เทป 101: อยากเริ่มเล่นคาสเซ็ตเทปต้องรู้อะไรบ้าง
- Writer: Malaivee Swangpol
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
หลังจากกระแสเทปกลับมาเป็นที่นิยมอย่างมาทั่วโลก คนหลากหลายวัยก็กลับมาเล่นและสะสมกันมากขึ้น เราเลยขอแนะนำคำศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับวงการเทปสำหรับมือใหม่หัดเล่น บอกเลยว่าอ่านบทความนี้จบคุยกับเด็กเทปรู้เรื่องแน่นอน!
หน้า A หน้า B
เทปก็มีหน้า A และ หน้า B คล้ายกับแผ่นเสียง จุได้ 60 นาที (อาจมี 45 46 50 70 80 90 100 หรือ 120 นาที แล้วแต่ประเภท) เทปแต่ละหน้าสามารถจุเพลงได้ประมาณ 5-6 เพลงเท่านั้น ทำให้เพลงที่เหลือของอัลบั้มต้องไปอยู่ในหน้า B ซึ่งหากเทปเพลงที่ทั้ง 2 หน้ามีความยาวที่ไม่เท่ากัน อย่างเช่นมีที่ว่างหลังเพลงสุดท้ายนาน ๆ ก่อนสุดเส้นเทป จะทำให้การรับฟังไม่ต่อเนื่อง ในการทำมาสเตอร์เพลงเพื่อบันทึกลงคาสเซ็ตเทป การเรียงเพลงต้องคำนึงถึงเวลารวมแต่ละหน้าให้เท่ากัน แต่ศิลปินบางคน โดยเฉพาะต่างประเทศ ยึดถือการเรียงเพลงตามอารณ์เพลงต่อเพลงเป็นหลักเป็นหลัก และไม่สนใจความต่อเนื่องระหว่างหน้า A, B ทำให้ช่องว่างนั้นอาจจะมีเวลาหลายนาที ส่วนค่ายเพลงไทยก็มักใช้เทคนิคนำเพลงดังมาไว้หน้า A ล้วน เพื่อให้แฟน ๆ ได้ฟังเพลงฮิตกันครบตั้งแต่ต้นม้วน โดยมักจะเรียงเพลงเร็วขึ้นก่อน ตามด้วยเพลงช้า และเพลงที่ไม่ดังหรือไม่ได้รับการโปรโมตก็ถูกจัดลำดับให้ไปอยู่ในหน้า B แต่บางวงก็ไม่ได้เข้าข่ายนั้น เพราะดังเปรี้ยงปร้างทุกเพลงอย่าง อัสนี-วสันต์ — ฟักทอง, คริสติน่า อากีล่าร์ — Red Beat รหัสร้อน, เบิร์ด ธงไชย — ชุดรับแขก ฯลฯ
เทปสี
เครดิต duplication.ca/blank-cassettes-canada.htm
เครดิต เพจ Earthtone
โดยปกติเทปจะเป็นเทปใสหรือเทปสีเทา ทำให้เทปสีเป็นอีกอย่างที่สร้างสีสันให้กับนักสะสมได้สนุกกัน อย่างเทปเพลงลูกทุ่งในอดีตก็จะมีสีสันหลากหลาย และเทปของศิลปินที่ผลิตขึ้นใหม่ในปัจจุบันก็นิยมทำเป็นเทปสีเพื่อเพิ่มความน่าสะสม อย่าง EP ของ Anatomy Rabbit — Hootok ที่ทำเป็นสีแดงประกาย หรือ Torrayot — Facing Death By Now ที่ทำเป็นสีดำสนิท
เทปผี
เครดิต https://jmaneekul.wordpress.com/tag/peacock/
เทปผีเกิดขึ้นในยุคก่อนเทปลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ที่ต้องมีเทปผีเนื่องจากยังไม่มีบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์มาจัดการขายเทปในไทย แต่กลายเป็นว่าพอเจ้าของลิขสิทธิ์มาขาย คนก็ยังนิยมเทปผีมากกว่าด้วยราคาถูกและออกไล่ ๆ กับที่ต่างประเทศเลย ตอนนั้นร้านดัง ๆ ทั้งที่น้องท่าพระจันทร์ และโดเรมีสยาม ก็มีขาย แน่นอนว่ายี่ห้อที่นิยมก็คือ Peacock (ซึ่งโผล่มาตามกรุ๊ปขายเทปเต็มไปหมด ถ้าใครอยากเก็บงานแท้ก็อย่าลืมเช็กดี ๆ นะว่าไม่ใช่พีค็อก) ตามด้วยยี่ห้ออย่าง Original Sound, Azona, Eagle, Octopus, Musical มดแดง ซึ่งมีเพลงแบบแตกต่างแนวกันไป แถมยังมีให้เลือกหลากหลายคุณภาพเสียง ก่อนจะล้มหายตายจากด้วยความเด็ดขาดของกฎหมายลิขสิทธิ์ในช่วงปี 2532
เนื้อเทป
เครดิต instructables.com/id/Cassette-Tape-1101-an-in-depth-look-into-this-an/
เนื้อเทปมีหลายชนิด ตั้งแต่แบบ Type 1 หรือแบบปกติ (Normal) ซึ่งจะตอบสนองต่อเสียงแค่ 20 – 10,000 Hz ต่อด้วยก็มีแบบพิเศษที่เสียงจะดีกว่าเนื้อเทปธรรมดา อย่าง Type 2 แบบโครเมี่ยมที่ตอบสนองช่วงความถี่สูงได้ช่วงกว้างกว่าเทปปกติไปอยู่ที่ช่วง 20,000 Hz แต่ข้อเสียคือมันฟังแล้วไม่สบายหูเท่ากับแบบแรก และสุดท้าย Type 4 ที่เรียกกันว่าแบบเมทัลที่ใช้เคลือบสารแบบอัลลอยด์ ซึ่งจะเป็นแบบที่เสียงดีที่สุดเทียบเท่าซีดีได้ ซึ่งมองเผิน ๆ เทปก็จะเหมือนกันหมด แต่หัวอ่านสัญญาณในเครื่องเล่นเทปจะสามารถระบุได้ว่าเป็นเทปประเภทอะไร
สภาพของเทป
วิธีการกำหนดสภาพของเทปจะคล้าย ๆ กับแผ่นเสียง โดยเริ่มตั้งแต่ mint (M) เช่นเดียวกัน ที่มีสภาพสวยนิ้ง แบบเดียวกับที่ออกจากโรงงาน ปกเทปสภาพเหมือนใหม่ ไร้รอย near mint (NM หรือ M-) คล้ายอันแรก อาจมีการแกะมาดูแล้ว มีรอยการเปิดนิดหน่อย แต่ตัวเทปต้องปกติ ไร้ริ้วรอย very good plus (VG+) มีรอยขนแมวตามปกนิดเดียว หรืออาจมีรู (เช่นการเจาะปก) เทปมีรอยนิดหน่อย แต่ไม่กระทบการฟังเพลง หรือมีเสียงรบกวนแค่นิดเดียว very good (VG) มีรอยขนแมวบนปกมากกว่า VG+ อาจมีสีจาง และอาจมีรอยเขียน มีรอยขนแมวบนกล่อง มีเสียงนอยซ์โผล่มารบกวนระหว่างแทร็คแต่ยังฟังได้ good (G) และ good plus (G+) มีร่องรอยบนปก ทั้งยับ ขีดเขียน หรืออาจมีฉีกขาด เทปมีรอยขีดข่วนเต็มไปหมด ฟังได้ลำบาก poor (P) และ fair (F) ปกมีรอยฉีกขาดอย่างรุนแรง หรืออาจหายไปส่วนหนึ่ง ตัวเทปมีรอยเต็มไปหมด เทปมีปัญหา อาจเล่นได้ไม่จบม้วน
เครื่องเล่นเทป
เครื่องเล่นระบบสองทิศทาง เครดิตภาพ https://www.bangkokaudio.com/topic.php?topic=14881-เสนอขายเครื่องเล่นเทปTEACW-790RDOUBLECASSETTEDECKราคาน่าใช้ครับ.html
เครื่องเล่นเทปมีสามแบบ
1. เครื่องเล่นทิศทางเดียว ซึ่งเป็นเครื่องเล่นรุ่นพื้นฐาน เมื่อเล่นเพลงหมดหน้า ปุ่ม play ก็จะเด้งขึ้นอัตโนมัติ เราต้องต้องเปิดฝาบรรจุตลับเทปเพื่อนำออกมากลับด้านภายนอกด้วยตัวเอง
2. เครื่องเล่น 2 ทิศทาง ซึ่งเมื่อหมดหน้า มอเตอร์จะทำงานกลับทาง และอ่านสัญญาณหน้าตรงข้ามทันที โดยในขณะที่เล่นอยู่ก็สามารถกดปุ่มเปลี่ยนไปเล่นหน้าตรงข้ามได้ทันที ซึ่งปุ่ม play จะมี 2 ปุ่ม มีสัญลักษณ์ทิศทางกำหนดไว้ เครื่องเล่นระบบนี้จะอยู่ในเครื่องเล่นราคาสูงกว่าแบบแรก
3. เครื่องเล่นทิศทางเดียว แต่มีกลไกกลับหน้าเทปอัตโนมัติ เพราะการเล่น 2 ทิศทางมีคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันด้วยมุมองศาของหัวอ่านเทป ทำให้การทำงานทิศทางเดียวจะแม่นยำกว่า ระบบนี้จึงสร้างกลไกให้เทปกลับด้านอัตโนมัติ ตัวตลับเทปจะเคลื่อนออกมาหมุนบนรางแล้วเคลื่อนกลับเข้าไปเล่นอีกด้าน สามารถมองเห็นการทำงานของระบบด้านในได้ มักจะอยู่ในเครื่องเล่นราคาสูง นอกจากนี้ยังเครื่องเล่นเทปแบบพิเศษ ที่มีระบบป้องกันเสียงรบกวนในชื่อ Dolby B, Dolby C อีกด้วย
เคล็บไม่ลับ: ถ้าเสียงไม่ใส เสียงทึบ ให้เช็ดหัวอ่านบริเวณที่สัมผัสเส้นเทปด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาล้างหัวเทปจนสะอาด เสียงจะใสขึ้น
เกร็ดความรู้: เมื่อก่อนเวลาซื้อเครื่องเล่นวิทยุเทป มักจะแถมเทปคาสเซ็ตมาม้วนนึงที่มีความยาวไม่มาก เป็นเพลงคลาสสิกหน้านึง เพลงแจ๊ซหน้านึง อัดเสียงมาดีเพื่อเป็นตัวเทส ซึ่งบนเทปจะเป็นยี่ห้อตามเครื่องเล่นเลย อย่างเช่น Sony, Sanyo, Phillips ฯลฯ
อัดเทป
เครื่องเล่นเทปที่มีปุ่ม record เครดิต amazon.in/Santosh-Recorder-Built-Player-Gl-901/dp/B06ZY4ZXKM
การอัดเสียงเป็นอีกฟังก์ชั่นที่ทุกคนจะนึกถึงตอนฟังเทป เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านเครื่องเล่นเทปเลย นี่เองทำให้เกิดการอัด mixtape เพื่อฟังเพลงโปรดซ้ำ ๆ หรือส่งจีบกัน วิธีการง่าย ๆ เพียงกดปุ่ม record ซึ่งบางรุ่นกดปุ่มเดียว บางรุ่นต้องกดปุ่ม play พร้อมกับปุ่ม record เพื่อความปลอดภัย สามารถบันทึกเสียงได้จากหลายช่องทางเช่น
- จากรายการวิทยุที่เปิดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดอ่านข่าว โฆษณา หรือ เพลง หรือเสียงการหมุนหาคลื่น เสียงที่ได้ยินจะถูกบันทึกลงเส้นเทปผ่านหัวบันทึกเสียงในทันที ทำให้ไม่ต้องตั้งระดับเสียงเพราะถูกตั้งค่ามาแล้วจากโรงงาน สามารถกด record และกด stop ในทันทีที่ต้องการ อย่างเวลาจะแกะเพลงใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีเทปก็ต้องโทรไปขอวิทยุให้เปิดให้เราอัด แล้วบอกดีเจห้ามพูดแทรก (ฮือ วงวาร)
- จากเทปอีกม้วนหนึ่ง สำหรับเครื่องเล่นแบบ 2 หลุม เรียกว่าการ dub เทป ไม่ต้องตั้งความดังเสียงใด ๆ เครื่องเล่นอาจมีปุ่ม dub เพื่อให้ทำงานง่ายด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว
- จากเครื่องเล่นฟอร์แมตอื่นในเครื่องเดียวกัน เช่นในเครื่องเล่น Mini Compo อาจจะมีเครื่องเล่นซีดีหรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่ด้วย ซึ่งสามารถอัดผ่านวงจรภายในได้ขณะเครื่องกำลังเล่นอีกฟอร์แมต เหมือนกับแบบอื่น ๆ ด้านบน
- จากไมโครโฟนที่ติดตั้งมากับตัวเครื่อง มักจะเป็นเครื่องเล่นประเภทวิทยุเทปกระเป๋าหิ้ว (Boombox)โดยเสียงที่อัดมาจะเป็นโมโนหรือสเตอริโอ ก็ขึ้นอยู่กับระบบของวิทยุ ในบางรุ่งที่มีการติดตั้งไมโครโฟนภายนอก จะมีไมโครโฟนแบบสเตอริโอเพื่อคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น บางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องอัดเทปมาสเตอร์ แบบ two microphone recording เพื่อนำไปผลิตจำหน่ายทั้งในแบบเทปคาสเซ็ตและแผ่นเสียง
- จากช่องสัญญาณ line in เป็นช่องสัญญาณที่รับสัญญาณมาจากช่อง line out ของเครื่องเล่นฟอร์แมตอื่น หรือเครื่องเล่นเทปด้วยกัน
การอัดเทป สามารถเลือกอัดลงบนเทปเปล่าแบบต่าง ๆ ซึ่งหากใช้เทปเปล่าคุณภาพดีราคาสูง อาจไม่ต้องหักเขี้ยวที่ก้นเทป เพราะมีกลไกเลื่อนเข้าออกแทนการหักเพื่อการใช้ซ้ำได้ เช่น ยี่ห้อ TDK บางรุ่น
การอัดทับ และวิธีป้องกัน
เป็นอีกปัญหาที่เจอบ่อยจากการซื้อเทปต่อคนอื่น หรือการเปิดฟังเทปที่เราไม่ได้ฟังมานาน แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีเสียงเงียบ หรือเสียงคนตะโกนโวยวาย (เช่น เฮ้ย! อัดทับ!) นั่นทำให้เครื่องเล่นเทปออกแบบให้ต้องอัดด้วยการกดปุ่มสองปุ่มพร้อมกัน ซึ่งหลังจากอัดทับไปก็ไม่มีวิธีแก้ไข นอกจากการทำใจ แต่ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุสุดเศร้า เราก็สามารถป้องกันได้ด้วยการหักเขี้ยวที่ก้นเทปทั้งสองด้าน เพื่อไม่ให้สามารถอัดทับลงไปได้ อย่างไรก็ดีอย่าให้เศษพลาสติกหักคาไว้ เพราะอาจหลุดเข้าไปในเครื่องเล่นและทำให้เสียหายได้ ซึ่งข้อดีคือ หากเกิดนึกครึ้มอยากอัดอีก ก็สามารถเอากระดาษม้วนเล็ก ๆ ยัดเข้าไปในรู หรือใช้เทปกาวปิดรู เทปม้วนนั้นก็จะอัดเสียงได้อีกรอบ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการฟังเทป
เครดิต safetysign.com/products/7014/caution-tape
- ไม่ควรทิ้งเทปไว้ในที่กลางแจ้ง โดยเฉพาะในรถที่จอดตากแดด และหลังเครื่องไฟฟ้าอุณหภูมิสูง เพราะอาจจะทำให้เนื้อเทปยืด ฟังไม่เพราะ เสียงยาน หรือไม่ก็ละลายติดกันเป็นก้อนเล่นไม่ได้ หนักสุดก็ตัวเทปบิดงอ เข้าเครื่องเล่นไม่ได้
- ไม่ควรเอาเทปเข้าใกล้แหล่งสัญญาณแม่เหล็ก เช่น แม่เหล็ก, บนลำโพง, บนทีวี เพราะจะทำให้สัญญาณในเนื้อเทปถูกรบกวน ฟังไม่ได้จนกลายเป็นเทปเสีย
- ไม่ควรวางในที่อากาศชื้น มีฝุ่น หรือการวางไว้นอกกล่องใส่เทป เพราะนอกจากจะทำลายเนื้อเทปแล้ว ยังมีผลต่อหัวอ่านเส้นเทป และอุปกรณ์ภายในเครื่องอีก
วิธีแก้ไขหากเกิดความเสียหายกับเทป
เครดิตภาพ reddit.com/r/nostalgia/comments/c55prc/using_a_pencil_to_fix_and_rewind_the_cassette_tape/
- เทปยืด ถ้าฟังเทปแล้วเสียงหน่วงช้าลงนิดหน่อย ให้นำตัวตลับเทปไปแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาซัก 1-2 วัน เเล้วเอาออกมา ปล่อยให้ความเย็นค่อย ๆ คลาย หรืออาจจะใส่ไว้ในซองฟอยล์ของถุงไอศกรีมแล้วปิดถุงไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดหยดน้ำเกาะเมื่ออากาศเย็นเจอกับร้อน (ซึ่งจะทำให้มีปัญหาได้) จากนั้นนำไปเล่น เสียงจะกลับมาดีเหมือนเดิม ถ้ายังไม่หาย ให้ทำซ้ำใหม่ แต่ถ้าเข้าตู้เย็นหลายครั้งยังไม่หายอีก ก็อาจเป็นการเสียหายถาวร
- เทปหยุดระหว่างเล่น หรือส่งเสียงเเปลก ๆ ให้กด stop แล้วกด eject นำเทปออกมาทันที มีโอกาสที่เส้นเทปจะหยุดค้างเพราะกลไกในตัวคาสเซ็ตเอง หรือเข้าไปพันกับระบบในเครื่องเล่น
- เส้นเทปออกมาพันระบบ ให้ค่อย ๆ ดึงเส้นเทปออกจากเครื่อง เเล้วหมุนเฟืองที่ตลับเก็บเส้นเทปเข้าที่ไปเรื่อย ๆ จนหลุดออกมาทั้งหมด แล้วเอาดินสอเสียบเข้าไปตรงรูเทป หมุน ๆ จนตึง แต่ถ้าเข้าไปพันแน่นมาก แนะนำให้ส่งช่างไฟฟ้าแกะออกให้ เพราะกรณีนี้อาจเกิดจากเครื่องเล่นเทปมีปัญหา
- เทปหยุดเพราะกลไกในตลับเทป บางครั้งเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ จากในตลับเทปหลุดออกมา (เช่นจากการหักเขี้ยวเทป) เข้าไปขัดจังหวะการหมุนของลูกล้อม้วนเทปก็จะทำให้เทปหยุด สังเกตได้จากเฟืองไม่หมุนทางใดทางหนึ่ง แล้วเทปในตลับมีเศษพลาสติกเเทรกอยู่ ม้วนเส้นเทปจะไม่กลม จะผิดรูปไป ให้ใช้ไขควงเล็กไขตลับเทปเเล้วเปิดออก นำเศษพลาสติกออกไป หรือสำรวจดูว่ามีสาเหตุอะไรทำให้เทปหยุด เมื่อซ่อมเสร็จแล้วก็ประกอบกลับตามเดิม
- เส้นเทปขาด ให้ไขน็อตยึดตลับเทปออกทั้ง 4 ตัว หาเส้นเทปที่ขาดทั้ง 2 ฝั่ง แล้วต่อให้ตรงกันบนเทปกาวใสแบบบาง ให้เทปกาวอยู่ด้านหลังของฝั่งบันทึกสัญญาณ ต่อตรงกันเสร็จเเล้วตัดเทปกาวส่วนเกินออก ประกอบตลับเทปกลับเข้าที่
- เนื้อเทปย่น อาจจะเกิดจากข้อ 2.1 ทำให้เมื่อเล่นจะทำให้เสียงบริเวณที่ยับ ฟังไม่รู้เรื่อง มีเสียงรบกวน ให้ดึงเส้นเทปออกมา ตัดส่วนที่ยับออกด้วยกรรไกร ต่อเข้าไปใหม่ด้วยวิธีเดียวกับข้อ3 แต่ไม่ต้องไขน็อตเปิดตลับเทปออก
- ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ว่าจะทั้งตลับหรือบางส่วนโดยที่เนื้อเทปยังดูเป็นปกติ อาจจะเกิดจาการที่ตลับเทปถูกทำลายสัญญาณจากการเหนี่ยวนำของแม่เหล็ก ถ้านิดหน่อยก็กด fast forward ผ่านไป แต่ถ้าเป็นทั้งม้วนก็ใช้ทำเป็นเทปเปล่าอัดเพลงอื่นทับ หรืออัดเล็กเชอร์
ด้วยความที่เกิดไม่ทันยุครุ่งเรืองของเทป ทำให้ต้องอาศัยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญยุคเทปก็คือคุณพ่อและคุณแม่ของผู้เขียน ต้องขอบคุณสำหรับข้อมูลมา ณ ที่นี้ด้วยค่า
อ่านต่อ
อย่าลองดีกับป้าโด! เปิดตำนานร้านเทปซีดีโดเรมีที่เด็กสยามต่างเคยไปเยือน
Rewind Forward กรอกลับหลังไปข้างหน้า เมื่อเทปคาสเซ็ตกลับมาเป็นวัตถุแห่งกระแสอีกครั้ง
ชุบชีวิตให้เทปคาสเซ็ตทุกตลับได้ด้วย NINM It’s OK เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตแห่งยุค
ร้านแผ่นเสียงในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ถ้าไปเยือนก็ควรแวะซักครั้ง (ตอนที่ 1)