JIPI และอัลบั้ม Peace of Mind ‘สันติในเรือนใจ’ ในปีแห่งความสงบของ รัชช อมาตยกุล
- Writer: Atiwat Uton
- Photographer: Atiwat Uton
- Visual Designer: Suppanat Buawichein
- Proofreader: Donratcharat Phromsoonthornsakul
JIPI คือโปรเจ็กต์ดนตรีของ จี๊ป-รัชช อมาตยกุล ส่วน Peace Of Mind หรือที่นิยามความหมายว่า ‘สันติในเรือนใจ’ เป็นชื่ออัลบั้มแรกของเขา อัลบั้มที่เกิดจากความสงบในการได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง หลายคนคงได้ฟังเพลงบางส่วนจากอัลบั้มนี้กันแล้วในช่องทางสตรีมมิ่ง และบางคนอาจมีอัลบั้มที่ว่านี้เป็นเจ้าของกันบ้างแล้ว วันนี้ขอพาทุกคนย้อนรอยกลับไปหาช่วงเวลาก่อนที่ศิลปินผู้นี้จะพบความสงบ…
ก่อนจะเป็น JIPI
จี๊ปเกิดในครอบครัวของตระกูลอมาตยกุล ปู่ของเขาเป็นทหารในยุคสงครามโลก ส่วนพ่อเป็นคนเชียงรายที่ย้ายมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าข้าราชการยุคนั้นต้องส่งลูกไปเรียนต่างประเทศถึงจะดูโก้ ปู่ของเขาก็ได้ส่งพ่อของเขาไปเรียนธุรกิจที่ Colorado State University ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วพ่อเขาไม่ได้อยากเรียนทางธุรกิจเลยแม้แต่น้อยพอได้เรียนเข้าจริงก็ตกทุกตัว กลับมาบ้านก็ต้องโดนว่าเป็นธรรมดา จึงได้แอบไปลงเรียน Fine Arts สายโฆษณา ดูจะเป็นทางที่ถูกที่ควรเพราะเรียนครั้งนี้ได้ A กลับมาทุกตัว บวกกับช่วงฮิปปี้กำลังมาพ่อก็ได้วัฒนธรรมจากเพื่อน ๆ ที่นั่นมาไม่น้อย กลับมาพร้อมปริญญาสองใบ ปู่แฮปปี้จนกระทั่งถึงตอนพ่อได้เฉลยว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้เรียนธุรกิจ โดนว่าไปตามระเบียบ ถึงเวลาสมัครงานพ่อก็กำลังจะเข้าไปทำงานที่บริษัทโฆษณาใหญ่ในยุคนั้นอย่าง Ogilvy กลับโดนปู่หักดิบให้เข้าทำงานที่แบงก์ทหารไทย เป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของพ่อที่กลายว่าได้ทำงานและอยู่จนถึงเวลาเกษียณ และระหว่างนั้นก็ได้เล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกแทน
อิทธิพลดนตรีจากพ่อสู่ลูก
จี๊ป: พ่อเคยแต่งเพลงทำวงตอนมหา’ลัยแต่ไม่ได้จริงจัง พ่อฟังเพลงเยอะ ฟังอะไรแปลก ๆ ที่เราไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ และพ่อเล่นดนตรีมาให้เห็นตั้งแต่เด็ก พาไปผับ ไปบาร์ ที่มีดนตรีเล่น พ่อชอบพาไปร้านเครื่องดนตรีมือสอง ซื้อกีตาร์ไฟฟ้าสีแดงแบบร็อก ๆ ให้ตอนประมาณ ป.4 และสอนเล่นเพลงมาตั้งแต่ตอนนั้น
จุดเริ่มต้นในเส้นทางดนตรีของ JIPI
เด็กชายจี๊ปเข้าเรียนประถมฯที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิกจนถึง ม.6 และถูกไล่ออก เป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิตที่พาเขาย้ายมาเรียนต่อที่กศน. ซี่งช่วงที่โดนไล่ออกเขาทำวงกับชาวแก๊งชื่อว่า Happy Mango แนวเพลงที่ทำได้รับแรงบันดาลใจมากจาก Inspirative, จริญตนาใก, Desktop Error, Arctic Monkeys ไปจน Nirvana และชื่นชอบงานเทศกาลดนตรีอย่าง Stone Free Music Festival อิทธิพลเช่นนี้ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาbลัยที่ศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ ในรั้วศิลปากร จี๊ปได้รู้จักเพื่อนร่วมรุ่นคือ เวิลด์ นพรุจ สมัยนั้นจี๊ปเป็นคู่คิดที่เข้าไปช่วยทำงานเพลงในนาม Walk by Myself ด้วยกัน และอีกวงที่จี๊ปมีส่วนร่วมซัพพอร์ตคือ JINTA
จี๊ป: จำไม่ได้แล้วว่าเริ่มรู้จักกันยังไง เห็นหน้ากันมาตั้งแต่ช่วงรับน้อง คิดอยู่แล้วว่ากูเพื่อนมึงชัวร์ พอปีหนึ่งปีสองก็เริ่มมาจูนเข้าหากัน ไปเที่ยวด้วยกัน ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มทำของตัวเองเท่าไร รู้สึกว่าอยากซัพพอร์ตเพื่อนมากกว่า เราแค่ไปแต่งตัวให้กับเพลงของเวิลด์ ส่วนจินตะก็ไป ช่วยทำงานคล้าย ๆ กัน ไปเป็นจิ๊กซอว์ตัวนั้นให้พวกเขาแค่นำเสนอคนละรูปแบบ
ตอนอยู่กับเวิล์ด ช่วยอัดกีตาร์ ชวนนักดนตรีมาเล่น และเล่นกับจินตะควบคู่ไปด้วย จินตะก็สอนเราได้มากเหมือนกัน เพราะจินตะมีงาน performance บนเวทีเยอะ ผ่านการทำงานกับจินตะมาก็ทำให้เรื่องหน้าเวทีเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยกลัวแล้ว ช่วงหนึ่งที่จินตะมีงาน มีแฟนเพลง มีสิ่งที่ต้องจัดการเยอะขึ้น ยังเป็นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านกันด้วย เริ่มจัดการกันเองไม่ได้ จนเกิดปัญหาภายใน เราเลยตัดสินใจออกมาทำงานของตัวเอง
อีกเหตุผลที่เลือกเข้าศิลปากรก็เพราะวงรุ่นพี่อย่าง จริญตนาใก, Summerdress อีกคนคือ จารย์ป๊อก Stylishnonsense (วรรณฤทธิ์ พงศ์ประยูร) คือเราอยากเรียนรู้ศิลปะ ชอบอะไรหลายแบบที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก เรียนจบออกมาก็ได้รู้ว่าเออมึงต้องเรียนรู้สิ่งที่ตลาดต้องการด้วย ก็พยายามปรับเลนส์ให้เปิดกว้างขึ้น แต่ช่วงเปลี่ยนจริง ๆ เป็นช่วงที่ทำเพลงให้เวิลด์ พอเวิล์ดได้ไปอยู่ค่าย (believerecords) เราก็ได้เข้าไปทำงานร่วมด้วยได้เห็นกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น มีอะไรที่ต่างไปไม่เหมือนเดิม ใช้พลังงานเยอะ สู้กับตัวเองแบบที่ทำให้รู้สึกเลยว่า หรือกูอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ หรือกูทำได้แค่สิ่งที่กูต้องการวะ ขีดเส้นแบ่งสิ่งต่าง ๆ แต่พอได้มาทำงานกับค่ายก็ได้เห็นกระบวนการทำงานตรงนั้นรู้สึกโล่งและรู้สึกดีที่ทำไป เปิดกว้างขึ้น ได้ทำลายตัวตน ทำลายอีโก้ที่เคยมี จุดนั้นได้ไปเรียนรู้จากพี่โปรดิวเซอร์ พี่ฟั่น–โกมล บุญเพียรผล เขาสอนให้เรารู้ว่าเพลงป๊อปทำกันยังไงบ้าง ช่วงนั้นทำให้เราเห็นเลยว่าเรายังไม่พร้อมลงสนามจริงเลย เพราะเพลงที่เราทำหรืออะเรนจ์ยังไปสู้คนอื่นไม่ได้จริง ๆ เรียกว่าเป็นร่องที่ตกลงไป เรียนรู้และเดินขึ้นมา
ชีวิตดำเนินต่อได้ด้วยการเล่นดนตรีกลางคืน
พอก้าวขาออกจากรั้วมหา’ลัย จี๊ปก็เริ่มเล่นดนตรีกลางคืนย่านทองหล่อตลอดระยะเวลา 2 ปี คัฟเวอร์เพลงสากล 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อหาเงินใช้จ่ายให้ชีวิตดำเนินไป
จี๊ป: เคยเล่นประจำอยู่ 1970sBar บนร้าน Zombie Books แถวอาร์ซีเอ มีงานหนึ่งต้องเล่นเปิดให้ศิลปิน แต่ยังไม่มีเพลงของตัวเอง เลยลองแต่งเพลงดู ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจจากเพลงที่ชอบฟัง จนพอถึงจุดนี้ก็ทำให้อยากมีเพลงของตัวเอง เพราะก็ได้ช่วยคนอื่นมาจนพอมีประสบการณ์ที่คิดว่าน่าจะทำเพลงได้แล้ว เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก็อยากมีงานของตัวเองบ้าง เหมือนได้อ่านหนังสือของคนอื่นมาพอสมควร ช่วยจัดตัวอักษร จัดปก จนถึงเวลาที่อยากมีหนังสือของตัวเอง ไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจหรืออยากโด่งดังอะไร แค่อยากทำงานออกมาก็เท่านั้น
จุดเริ่มต้นของเพลงแรกที่เริ่มเขียนให้กับตัวเองและเป็นเพลงตั้งต้นของอัลบั้มแรกของเขาคือช่วงเวลานั้น จากเรื่องเล่าที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงชีวิตเสี้ยวหนึ่งในเส้นทางสายดนตรีของจี๊ป ต่อจากนี้เป็นเรื่องราวที่จะพาไปรู้จัก JIPI และ Peace Of Mind อัลบั้มแรกของเขาที่บันทึกไดอารี่ของตัวเองไว้ในเสียงเพลง
Peace of Mind
จี๊ป: แค่อยากมีพื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่ ๆ ทำอะไรก็ได้ JIPI เป็นนักร้อง เป็นนักแต่งเพลง และซาวด์อาร์ตติสต์คนหนึ่ง ที่พยายามแสดงออกถึงข้อความ เรื่องราวบางอย่างผ่านงานและผ่านการใช้ชีวิตในช่วงที่ยังมีลมหายใจอยากทำอะไรก็ได้ตามใจเรา ด้วยความที่เป็นคนคอยตีโจทย์ให้คนอื่นมาโดยตลอดพื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่สำหรับฝึกวิชาและตอบสนองความต้องการของตนเอง ในแต่ละเพลงที่ทำขึ้นมาเป็นเหมือนสมุดจดบันทึกที่ได้เจอเรื่องราว บทเรียน ไม่ว่าจะคิดอะไรอยู่ในตอนนั้นก็เอามาเขียนเป็นเพลง มันคือพื้นที่ที่สงบของเราที่ได้ทำงานกับตัวเอง
อัลบั้ม Peace of Mind เดิมทีแล้วเสร็จไปตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดจะมา แนวเพลงของอัลบั้มนี้เป็นดนตรีโฟล์กปนเปไปกับซาวด์ดีไซน์เสียงเครื่องสังเคราะห์และเสียงจากธรรมชาติ แทรกความเป็น World Music แบบที่ผู้สร้างสรรค์ชื่นชอบ คำร้องผสมทั้งไทย สากล และเพลงบรรเลง รวมทั้งหมด 9 เพลง เป็นบทเพลงที่ประกอบสร้างขึ้นในแต่ละช่วงเวลาที่ได้พบเจอ ประสบการณ์ เรียนรู้ ตื่นรู้ ตระหนักและเข้าใจจากการได้เดินทางท่องไปยังสถานที่ต่าง ๆ
Track by Track
Inner Peace
ซาวด์เปิดหัวของอัลบั้มที่นำเข้าไปสู่เพลงแรกชื่อว่า เพลง ซิงเกิลแรกที่เริ่มต้นเขียนเพื่อทำโปรเจ็กต์ของตัวเอง
เพลง
เป็นเพลงที่มีพลังบวก อยากให้กำลังใจตัวเองและคนอื่น เป็นการเริ่มอัลบั้มที่ให้เสียงเพลงคอยนำทาง เป็นเพลงเปิดที่ดี ช่วงที่แต่งเพลงนี้ตอนนั้นก็ยังริบหรี่อยู่ว่า เอายังไงต่อดีวะ โถชีวิตนักดนตรี
อาจมีบางคราวที่ฝันไม่ได้ดั่งใจหวัง
แต่เธอจงจำเอาไว้ว่าเธอยังมีฉันอยู่
คอยปลอบโยนเมื่อเธอต้องการ
อยู่ตรงนี้ไม่เคยไกลห่าง
จากเธอ จากเธอ
ให้เสียงเพลงคอยนำทาง
ให้เสียงเพลงคอยนำทาง
ให้เสียงเพลงคอยนำเธอ – เพลง
ธารตะวัน
เพลงนี้คล้าย ๆ กับเพลงหลงประมาณหนึ่ง ผ่านมุมมองของคนเขียนเพลงนี้คือเรื่องเจตจำนงอิสระ, สังคมมนุษย์, การหลับฝัน และ ตื่นขึ้น จากมุมมองของศิลปินที่มีหน้าที่สร้างผลงานและทิ้งไว้ต่างหน้าบนโลกนี้ก่อนจะหมดเวลาของชีวิตลงและเวียนว่ายต่อไปไม่รู้จบ
โอใจดวงนี้อ่อนไหวไปตามทางของลม
ผู้ใดกำหนดไว้ หรือ ใจกำหนดเอง
โลกยังคงหมุนมนุษย์ยังวุ่นวาย
สังคมการแข่งขันเส้นชัยคือความตายแน่นอน
หากตะวันยังส่องแสงแยงตาตื่นจากฝัน
ที่ไม่มีวันจบลืมตามาฝันต่อชีวิตและมอบดอกไม้
แด่โลกนี้ ก่อนจากไป – ธารตะวัน
Little boy
หนึ่งเพลงในอัลบั้มที่เป็นภาษาอังกฤษ พูดถึงเรื่อง Inner child หรือพลังงานของวัยเยาว์ที่เป็นความบริสุทธิ์ ความสนุกสนาน ไร้ข้อจำกัด แรงขับเคลื่อนที่อยากจะปลุกพลังนี้ให้ยังคงอยู่เสมอกับการทำงานและการเผชิญชีวิตโลกความเป็นจริง
May be I’m too young be a working man
Still playing like a little boy..forever – Little boy
Familia
อีกหนึ่งบทเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ เพลงนี้พูดถึงครอบครัว แต่งเพลงนี้ได้ตอนไปเปลี่ยนยางรถยนต์กับพ่อ อยากเขียนให้ต้นกำเนิดบรรพบุรุษ เล่าเรื่องตั้งแต่เด็ก ถึงพ่อ แม่ พี่สาว จำลองตัวเองว่าเป็นทารกที่เห็นหน้าแม่ตอนเกิดมา ก็เล่าว่า “ฉันเกิดมาฉันเห็นแม่ฉัน เธอยิ้ม แต่เธอร้องไห้” เล่าถึงพ่อว่า “พ่อเป็นคนทำงาน บางครั้งเขาจะร้องเพลง พ่อเป็นคนที่บอกให้เราทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ เพราะเขานั้นได้ผ่านชีวิตที่ไม่ได้ทำสิ่งที่เขาต้องการมาแล้ว” พูดถึงพี่สาวในมุมของการให้และให้อภัย เรียนรู้บางสิ่งมาจากเขา เวลาเปลี่ยนผ่าน แต่ดวงตาของพวกเขาเหมือนเดิม ทุกอย่างมันโอเคไปหมดเมื่อเราอยู่ด้วยกัน ถ้าขาดใครไปสักคนก็คงเป็นโลกที่ดูเศร้าหมอง
บันดาล
เพลงที่ว่าด้วยเนื้อหาของการให้กำลังใจ เพลงนี้ถูกเขียนในช่วงที่งุนงงกับชีวิต เนื้อเพลงแฝงไปด้วยเรื่องธรรมชาติ และธาตุไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ และมีเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนที่ยังคงเดินทางร่วมกันในเส้นทางสายนี้อย่าง เวิลด์ นพรุจ มาร้องเพลงนี้ร่วมกันร้องและช่วยจบเนื้อเพลงท่อนฮุค
อาจเป็นเพียงแค่ฝนโปรยให้ข้างในได้ชื่นฉ่ำ ดลบันดาลให้หัวใจที่บอบช้ำ
อาจเป็นเพียงแค่สายลมพัดผ่านมาแค่ชั่วคราว ดลบันดาลให้ฉันมีแรงอีกครั้ง เท่านี้ก็มากพอให้มีแรงก้าวเดินต่อบนเส้นทาง ความฝัน – บันดาล
Inscurity
เป็นเพลงอิมโพรไวส์กับกีตาร์โปร่ง เล่าเรื่องราวของความรู้สึกปลอดภัย ตอนทำเพลงนี้รู้สึกว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เหมือนอยู่ในท้องแม่ เป็นเพลงบรรเลงสั้น ๆ
เหมือนเราได้มองตัวเองในอดีตเวลามองอัลบั้ม แต่ไม่ได้คลั่งไคล้ว่านี่คือสิ่งสุดยอดเป็นมาสเตอร์พีซ มากกว่าความเพอร์เฟกต์หรือความสำเร็จ คือเราได้ทำงานเพลง สิ่งที่สำคัญไปกว่าอื่นใดเราได้เห็นตัวเองทำงานด้านในไปด้วย มันเลยออกมาประมาณนี้ ต่อให้ชำรุดไม่สมบูรณ์แบบก็พอใจกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น
หลง
แต่งในช่วงที่กำลังทำงานของตัวเอง เมื่อก่อนทำงานให้กับคนอื่น ทำเพลงป๊อป ทำเพลงอินดี้ แล้วสรุปกูเป็นอะไรชอบแบบไหนกันแน่วะ สุดท้ายเจอคำตอบให้ตัวเองว่า จริง ๆ กูไม่ได้เป็นอะไรเลย กูก็เป็นกูแบบนี้ เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ไม่มีเส้นแบ่ง เพลงนี้พูดเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัว เปิดประตูบานสีแดงก็เหมือนเปิดใจที่ใครไม่เคยได้เห็นมัน บางอย่างที่ซ่อนไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง มีกำแพงเป็นตั้งมั่นกั้นเอาไว้ เนื้อเพลงที่ร้องว่า “ดั่งหมู่นกที่พลัดหลงถิ่น ดั่งดอกไม้ที่หลงลืมกลิ่นหอมของตัวเอง ฝันที่ใครคอยขีดเขียน ให้ฉันเดินตาม จนลืม” ก็ตอบได้ดีว่าเราลืมไปว่าที่จริงแล้วเราไม่ได้เป็นอะไรเลย แม้แต่ตัวเรา
Time
เพลงที่ถูกแต่งขึ้นจากเหตุการณ์ที่เพื่อนสนิทในแก๊งมัธยมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นช่วงที่เสียดายบางอย่างที่ไม่ได้ทำร่วมกัน
เหล่าคนเบื้องหลังสันติในเรือนใจ
จี๊ป: มิวสิกวิดีโอเพลงที่ปล่อยไป ก็ชวนเพื่อน ๆในกลุ่ม อย่าง ปูน–Panitarn Boontrig, พี่โจ (Vijit Tawan), มายด์–Satita Taratis (ช่างภาพ) และ จารย์เพชร–พศุตม์ สะอิ้งทอง มาช่วยกันสร้างสรรค์ ถ่ายทอดและตีความเพลง ผมปล่อยให้ศิลปินตีความอย่างอิสระ และทำงานออกมาตามสไตล์ได้เลย สุดท้ายภาพมันเข้ากับธีมเรื่อง ชิ้นส่วนของอัลบั้มทุกชิ้นล้วนมีความแตกต่างกัน แต่พออยู่ร่วมกันแล้วมันเกิดความสวยงามขึ้น ผมอยากจะสื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างให้มีความชอบและสามารถมีความแตกต่างเพื่อที่จะอยู่ร่วมด้วยช่วยกันอย่างไม่มีเส้นแบ่ง
ในอัลบั้ม Peace of Mind ยังมีเพื่อนและรุ่นพี่ที่ผมเคารพอย่าง จิน–วรเมธ มตุธรรมธาดา และชลวรรษ บูรณสิงห์ Sound Designer, Artist & Composer ชาวไทยผู้มีผลงานมากมาย หรือท่ีคุ้นชื่อกันจากผลงานนามว่า Gorn Clw มาช่วยดูในส่วนของมิกซ์ และมาสเตอร์ให้อัลบั้มนี้กลมกล่อมขึ้น ทางด้านของอาร์ตเวิร์กประจำอัลบั้มนี้ก็ยังมีเพื่อนที่รู้จักและชื่นชอบในผลงานศิลปะชื่อว่าซามี่ มาช่วยสร้างสรรค์แปรเปลี่ยนให้เพลงได้เล่าเรื่องเป็นภาพสนับสนุนให้เป็นคอนเซปต์อัลบั้มอย่างที่ตั้งใจไว้
ซามี่ช่วยตั้งแต่การเรียงเพลงในอัลบั้ม มี่เป็นเด็กใต้ที่เรียนจบจากมหา’ลัยเกษตร คณะมนุษย์ศาสตร์ภาษาอังกฤษ ที่ทำงานศิลปะ ถ่ายรูปสวย เขาเรียนต่อ ปริญญาโท ที่ม. เชียงใหม่ สายวิจิตรฯ คลุกคลีและเห็นงานกันมานานก็รู้สึกว่าคนนี้แหละที่มีความเข้าใจกันในแบบที่คนอื่นทำให้เราไม่ได้ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมี่เปิดร้านชาอินเดียชื่อว่า Inchala อยู่ที่แถวหน้า ม.เชียงใหม่
ซึ่งคอนเซปต์ของตัวอัลบั้มนี้จะใช้สิ่งของที่อยู่ในบ้านเรือนมาสร้างสรรค์ เป็นพวกรูปที่วาดตั้งแต่เด็ก, รูปพ่อแม่, ใบไม้ ไปจนชิงช้า ซามี่นำมาเล่าเรื่องเป็นงานอาร์ตด้วยการตัดกระดาษจริงแล้วเอามาแปะ เหมือนเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่มาต่อกัน อย่างที่บอกว่าทุกเพลงในนี้มันไม่มีธีมเลยแตกต่างกันมาก มาจากหลาย ๆ ช่วงเวลา แล้วมาปะติดปะต่อกันเป็นลักษณะแบบศิลปะงานคอลลาจ
โลโก้ของ JIPI เองมี่ก็เป็นคนวาด ถ้ามองดี ๆ จะเหมือนรูปช้าง ผมมีนิทานเรื่องหนึ่งที่พ่อชอบเล่าแต่เด็กคือเรื่องที่พ่อกับแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดตอนยังไม่มีผม ตกดึกกำลังจะขับรถยนต์กลับที่พักระหว่างทางกลับมีฝูงช้างทั้งโขลงเดินขวางถนน รายล้อมอยู่รอบรถ และแล้วช้างโขลงนั้นก็นั่งเรียงกันสองฝั่งเปิดทางให้รถวิ่ง ซึ่งหลังจากทริปนั้นมาพ่อแม่ก็มีผม แล้วซามี่ก็ออกแบบโลโก้ JIPI ให้ออกมาได้อย่างที่ได้เห็น
‘สันติ’ ในเรือนใจของ JIPI
จี๊ป: หากพูดถึง ‘สันติ’ ผมรู้สึกว่านับวันเราพบสิ่งนี้ได้น้อยลงทุกทีบนโลกภายนอกในปัจจุบัน ผมจึงอยากที่จะสร้างพื้นที่แห่งสันติ ซึ่งมันคงเริ่มได้อย่างง่าย ๆ ในเรือนใจของผมเอง ส่วนประกอบของพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ หลัก ๆ เลยคงเป็นเรื่องราวความรู้สึกและประสบการณ์ของผม ที่ได้เดินทางทั้งภายในและภายนอกไปพร้อม ๆ กันในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และผมไม่ลืมที่จะเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านั้น นำส่วนสำคัญพกติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน มาปรุงรส ใส่ส่วนผสมที่เรียกว่าดนตรีและศิลปะแบบที่ผมชอบเข้าไป จนทั้งหมดนั้นกลมกล่อมดีออกมาเป็น 9 ชิ้นส่วน เรียกได้ว่า 9 ชิ้นส่วนนี้เปรียบเสมือนชิ้นส่วนของจิตใจ ที่แต่ละชิ้นต่างบันทึกเรื่องราวอันแตกต่าง แต่ทว่าเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว ผมกลับรู้สึกว่ามันสะท้อนความสงบและมอบสันติให้แก่ผมจนสุดท้ายกลายมาเป็นอัลบั้มนี้ ผมอยากเชิญชวนเพื่อนรักนักเดินทางทั้งหลาย ได้สัมผัสกับผลงานชิ้นเล็ก ๆ นี้ จะเก็บไว้ที่บ้าน หรือติดรถไว้ เป็นเพื่อนระหว่างการเดินทาง เผื่อสิ่งนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจว่าคุณไม่ได้เดินทางอย่างเดียวดาย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องเล่าหลังแก้วชาในบ่ายวันหนึ่งที่ได้คุยกันถึงความเป็นมาของ JIPI และอัลบั้ม Peace Of Mind จาก จี๊ป–รัชช อมาตยกุล เป็นอัลบั้มที่เขามักจะพูดเสมอว่าเกิดจากความสงบจากการได้สร้างสรรค์ผลงาน