ผู้วายชนม์ โดย Jinta
- Writer: Montipa Virojpan
ผู้วายชนม์ ‘Jinta‘
เนื้อร้อง/ทำนอง : ณัฐธีร์ วิชชุเกรียงไกร
เรียบเรียง : Jinta
คลิกที่ภาพเพื่อรับฟังเพลงบนเว็บไซต์ฟังใจ
จากบทกวี สู่บทเพลงสดุดีวีรชน
ผู้วายชนม์ เพลงล่าสุดในมินิอัลบั้ม ไตร ของ Jinta สะกดเราด้วยท่วงทำนองหม่นเศร้าในกลิ่นอายเพลงเพื่อชีวิต ถ้อยคำที่กล่าวแต่น้อยนิดทว่าครบถ้วนในความหมาย
เพลงนี้เกิดขึ้นมาจากเนื้อความช่วงท้ายซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงกวีที่ ธีร์ – ณัฐธีร์ วิชชุเกรียงไกร เขียนขึ้นมาเล่น ๆ แต่ต่อมาเขาก็นำไปขยายความจากการที่เขานึกถึงหลาย ๆ เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีการจัดไว้อาลัยให้เหล่าวีรชน การคิดถึงเรื่องเหล่านั้นทำให้เขามองเห็นความเศร้าเสียใจ ความเสียดาย และความภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาทำ สีสันและอารมณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกันในมโนภาพของธีร์ จนเขาหยิบดินสอ กระดาษ และกีตาร์ ลองเขียนเพลงนี้ขึ้นมา
ชุดคอร์ดที่ออกมาจากอารมณ์ที่หลากหลายภายใต้คอนเซปต์การไว้อาลัยแด่ผู้กล้า ค่อย ๆ ส่งความเคลื่อนไหวไปตรงช่วงคอร์ดท่อนฮุคโดยธรรมชาติ แม้เพลงนี้จะเขียนเนื้อค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่สองประโยคท้ายเขาเลือกจะเล่นคำตรงข้ามกันให้เกิดอารมณ์ที่ย้อนแย้ง แต่เอามาใกล้กันเพื่ออธิบายความว่างเปล่าที่เกิดขึ้น
“จริง ๆ ในอัลบั้ม ไตร เราเล่นเพลง นกสีเหลือง ของ คาราวาน ด้วย แต่สุดท้ายตัดสินใจไม่ใส่ไปเพราะเรายังไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจเหตุการณ์เหล่านั้นจริง ๆ หรือเปล่า เราอาจจะถ่ายทอดในมุมเราได้ แต่เราอยากศึกษามันต่อเพราะเพลงนี้มันพูดถึงเหตุการณ์นั้นตรง ๆ ในเวอร์ชันของคาราวานจะมีช่วงที่เป็นกวีคั่น ร่ายเป็นการยืนไว้อาลัยให้เหล่านักศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามเรารักเพลงนี้ ถ้ามีโอกาสอีกทีอาจจะได้ฟังกัน”
ล้านคำบอก เชิงกวี
ร้อยคำภีร์ วีรชน
สิ้นเสียงลืม ก้องคำรนณ์
ล้านอารมณ์ เป็นกวี
ทั้งบทกวี ทั้งวิชาการต่าง ๆ ที่วีรชนได้สร้างไว้ พอพวกเขาได้ลาจากไป เราเลยมาเล่าถึงจากอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อเขาตายจากไปแล้ว สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือคำบอกเล่า คำที่บันทึก หรือผลงานที่เหล่าผู้วายชนม์เหลือทิ้งไว้ ก็จะเป็นเนื้อเพลงช่วงท้าย
เจ้านกน้อย บินไป
อาจเป็น ดั่งชีวิตใคร
สุขสมกายใจ แล้วตายจาก
เราเห็นภาพนกกำลังบินออกไป เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของนกเฉกเช่นเดียวกับชีวิตคน ที่พอบินไปมาก ๆ ก็ต้องหยุดพัก เพื่อทำความเข้าใจกับอารมณ์สุขทุกข์ที่ต้องเจอในชีวิตหนึ่ง ๆ และการออกบินอีกครั้งคือการดับสูญเพื่อออกไปตามหาชีวิตใหม่
เสียงอำลา ผู้วายชน
ทั้งซึมซม และยินดี
การที่เรากำลังพยายามเดาความรู้สึกของผู้ที่จากไปแล้ว เขาอาจจากไปด้วยความทุกข์ หรือจากไปด้วยความสุข สมหวัง หรือไม่สมหวัง คือทั้งบวก ทั้งลบ แล้วเราเอามันมาประกบกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่า เหมือนเราเป็นบุคคลที่สาม ที่กำลังมองสิ่งที่เกิดขึ้น
ทั้งขืนข่ม และสุขขี
ทั้งปรีดี และเงียบงัน
ตรงบรรทัดนี้เหมือนด้านบนเลย คอนเซปต์ยังคงไว้ตรงนั้น แต่บรรทัดสุดท้าย จะเห็นว่ามันคือสรุป แต่เปลี่ยนจากอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น คือทั้งหมดทั้งมวลผู้จากไป มันมีทั้งผู้ที่ถูกกล่าวถึง และไม่ได้ถูกกล่าวถึง มันมีทั้งผู้ที่จากไปด้วยการได้รับความสรรเสริญเยินยอ และผู้ที่เหมือนหลุมดำหรือที่เรียกว่าปิดทองหลังพระ ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีมากมายเพียงใด เราไม่รู้ว่ามากแค่ไหน ที่ถูกกลบไว้ภายใต้ความเงียบงันนี้
ในอัลบั้ม ไตร Jinta ต้องการนำเสนอเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะเลยหรือเปล่า
คอนเซปต์มันคือเลข 3 เราอยากถ่ายทอดอารมณ์ที่เหมือนตอนคนในวงเล่นฟังกันเองเวลาอยู่บ้าน คือถ้าเราอยู่ในห้องนอนหรือปาร์ตี้กันอยู่ มันย่อมไม่มีกลองชุด หรือเบส อะไรแบบนี้อยู่แล้ว เราอยากเล่นอะไรที่น้อย ๆ บ้าง แต่ในความน้อยก็ทำให้เกิดความเงียบมากขึ้น แล้วความเงียบมันทำให้เราถ่ายทอดอะไรออกมาได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเพลง ผู้วายชนม์ เป็นเพลงนึงที่ต้องการความเงียบเป็นพิเศษ คือพอมันน้อยมันจะได้ยินชัดมาก ทั้งกีตาร์ในแต่ละช่วง หรือไวโอลินกับเสียงของโบวเวลาสีลงไป แล้วอักขระคำร้องอะไรต่าง ๆ มันจะชัดมาก นั่นแหละคือสิ่งที่เราอยากให้คนฟังได้ฟัง ถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นอะไรที่เข้าใจยากไปหน่อยก็ตาม
การร้องตั้งใจให้มีสำเนียงแบบเพลงเพื่อชีวิต
มันเป็นเสียงเราไปแล้ว เราเกิดที่สุพรรณ วงที่ดังก็คือคาราบาว แม่เราเป็นแฟนคลับคาราบาว เราแค่ปล่อยให้มันขยับไปตามธรรมชาติที่ร่างกายเรามันไป ส่วนอาร์ต (ไวโอลิน) โตมาทางสายคาราวาน คือจริง ๆ มันอยู่ในสายเลือด มันอยู่ในแทบทุกอย่างแม้แต่การสวดมนต์ มันร้องแบบนี้แล้วสะดวก ได้อารมณ์ เราก็เลยทำ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการต้องการบอกเล่าว่า สุดท้ายแล้วชีวิตหนึ่งของคนเราก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่เคยหายไป คือผลงานและความดีงามที่พวกเขาเหล่านั้นได้สร้างไว้ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงพวกเขาตลอดไป