Article Guru

When Geek Meets Rave: Algorave เมื่อการเขียนโค้ดสามารถสร้างดนตรีเต้นรำได้

  • Writer: Montipa Virojpan

ใครบางคนเคยบอกว่าสักวันหนึ่งดนตรีจะต้องเจอข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถสร้างแนวเพลงใหม่ ได้อีก เราก็ไม่ปฏิเสธความจริงข้อนี้เมื่อรูปแบบของดนตรียุคปัจจุบันเป็นการผสมวัตถุดิบหรือองค์ประกอบของแนวดนตรีดั้งเดิมต่าง เข้ามาให้เกิดเป็นส่วนผสมใหม่เสียมากกว่า แต่ในทางกลับกันวิธีการนำเสนอดนตรีนับว่าเป็นประดิษฐกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด เราสามารถสร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาใหม่ หรือหาวิธีถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นให้ออกมาแตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิมได้ ซึ่ง Algorave ก็คือรสชาติใหม่ของดนตรีเต้นรำที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปกว่า 40 เมืองทั่วโลกในขณะนี้ รวมถึงกรุงเทพ เองก็เป็นหนึ่งในนั้น

If music is a form of code, then perhaps code is the form of music.

เราอาจเคยชินกับการแสดงของดีเจหรือนักดนตรีก้มหน้าก้มตาเล่นเพลงของตัวเองไป โดยสิ่งที่เรารับรู้คือเนื้อเพลงหรือเมโลดี้ที่เขาถ่ายทอดมาให้เราอีกที ผ่านการได้ยินและได้เห็นมูฟเมนต์บนเวที แต่อัลกอเรฟเป็นเหมือนการพาเราไปสู่อีกขั้นของการแสดงและการรับชมดนตรีอิเล็กทรอนิกแบบสด ยิ่งเพิ่มคำสั่งเข้าไป เราก็จะได้ยินความเปลี่ยนแปลงของบทเพลงนั้น  จากการที่พวกเขาการสร้างเสียงรูปแบบต่าง ๆ หรือกำหนดจังหวะช้าเร็วผ่านการใช้อัลกอริธึม เราจะตื่นเต้นเมื่อได้เห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่บนภาพที่ฉายไปยังเบื้องหลังผู้เล่นที่กำลังมีความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจวิธีการทำงานของมันทั้งหมด และบางทีก็อาจจะมี live visual ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสด  ด้วยวิธีเดียวกันเพื่อให้เข้ากับดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่ กระบวนการทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นัก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้ริเริ่มการใช้โค้ดในการเขียนเพลงมาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี

ย้อนไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกคนรู้จัก Alan Turing ในฐานะหนึ่งในโปรแกรมเมอร์ที่สามารถสร้างเครื่อง Enigma หรือคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ๆ ที่ช่วยดักจับการส่งสัญญาณของฝ่ายอักษะ และทำให้ฝั่งสัมพันธมิตรสามารถพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะในสงครามได้ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือเขาเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเขียนโน้ตดนตรีขึ้นมาได้ช่วงปี 1950s

Algorave

นอกจากนี้แล้ว ในปี 1970s แนวคิดการใช้อัลกอริธึมในดนตรีถูกนำไปพัฒนาครั้งแรกในแวดวงดนตรีอิเล็กทรอนิกโดย Brian Eno ที่เริ่มทำดนตรีแนวทดลองและแอมเบียนต์ขึ้นมา ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานของเขาก็มีอิทธิพลอย่างมากในแวดวง rave ยุค 90s ที่มีศิลปินคนสำคัญ อย่าง Farmers Manual, Autechre และ Aphex Twin ที่พวกเขามีความตั้งใจสร้างเพลงอิเล็กทรอนิกที่บีตไม่เป็นลูปซ้ำกัน รวมถึงเพลง drum and bass (หรือ happy hard core ในยุคแรก ) ก็มีการเขียนโค้ดลงไป จนต่อมาก็เกิดเป็น glitch music ที่ใช้หลักการคล้าย กัน

ในเวลาต่อมาก็มีศิลปินและโปรดิวเซอร์ดนตรีอิเล็กทรอนิกหลายคนที่ยังยึดหลักการอัลกอริธึมและหาทางพัฒนารูปแบบการใช้งานของมันเรื่อย เพราะพวกเขาเชื่อว่าการสร้างดนตรีอิเล็กทรอนิกจากซอฟต์แวร์ตามปกติเป็นการสร้างกำแพงที่จำกัดกรอบความคิดสร้างสรรค์ระหว่างคนทำเพลงและซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเหล่านั้น แต่ถ้าคนทำเพลงสามารถหยิบเอาอัลกอริธึมเหล่านั้นมาเขียนโน้ตลงไปทีละตัว ด้วยมือของพวกเขาเอง มันจะช่วยทลายข้อจำกัดนั้นลง และช่วยส่งเสริมกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ไปได้อีกขั้น โดย Alex McLean และ Nick Collins เป็นคนที่ทำให้อัลกอเรฟถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2012 ที่เมืองเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ โดยพวกเขามีเป้าหมายจะทำให้ movement นี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

Alex McLean เริ่มทำงานที่แรกตอนปี 2000 และตอนนั้นเขาก็เก็บเงินซื้อซินธิไซเซอร์ตัวแรกในชีวิตได้ แต่แล้วเขาก็เกิดความคิดว่า ‘ไหน ๆ ก็ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์แล้ว ทำไมถึงไม่เขียนโค้ดขึ้นมาเองแล้วควบคุมให้มันสร้างเสียงต่าง  จากนั้นค่อยมาดูว่าข้อมูลที่ป้อนเข้าไปมันจะถึงขีดจำกัดตอนไหน’ ซึ่งขณะนั้น Adrian Ward เพื่อนของเขาก็สร้าง visual art ด้วยการเขียนโค้ด รวมถึงทดลองสร้าง interface สำหรับเขียนเพลงด้วยโค้ด นั่นเลยทำให้พวกเขาและ Dave Griffiths ตัดสินใจตั้งวง Slub ขึ้นมา และทำเพลงจากการเขียนโค้ดอย่างจริงจัง แต่ตอนที่พวกเขาเริ่มทำในช่วงแรก คนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการเขียนโปรแกรมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการใช้สร้างสรรค์ได้ ต่อมาพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากการได้ฟัง Autechre อิเล็กทรอนิกดูโอ้จากแมนเชสเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ตัวเองเขียนขึ้นมาเองในการทำเพลงแดนซ์ นั่นทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน

ผมว่ามันคือการสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมในดนตรีที่เชื่อมเอาความรู้สึก ความคิด และการเคลื่อนไหวของเราเข้าด้วยกัน แล้วมันเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมที่ว่าหลาย คนกลัวเรื่องอัลกอริธึม หรือการเก็บข้อมูลในโลกที่ big data สามารถจะทำอะไรกับชีวิตประจำวันของเราก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าจริง แล้วอัลกอริธึมมันมีอยู่หลายประเภทมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้มันทำอะไร ซึ่งอันนี้เราใช้มันในการสร้างสรรค์ดนตรี” McLean ว่า “เอาจริงนะ ดนตรีอัลกอริธึมมันเป็นอะไรที่เป็นนามธรรมมาก มันไม่ใช่แค่การเขียนโค้ดลงไปเฉย แต่มันมักจะได้ขั้นตอนหรือแบบแผนอะไรขึ้นมาเพื่อให้เราได้คิดต่อว่าจะสร้างเสียงอะไรต่อไป

เช่นกันกับ Alexandra Cárdenas หรือ tiemposdelruido นักประพันธ์เพลงคลาสสิกที่หันมาสนใจฟรีซอฟต์แวร์สำหรับ live coding จากการเหนื่อยหน่ายกับซอฟต์แวร์ทำเพลงที่ต้องจ่ายในราคาแพง แล้วต้องมาพบกับข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถสร้างเสียงที่เธอต้องการ และมองว่าอัลกอเรฟสามารถทลายขอบเขตที่ดนตรีเคยมี ทั้งนี้เธอยังมีความเชื่อคล้าย กันกับ McLean ว่าอัลกอเรฟเป็นเรื่องของรสนิยม สุนทรียศาสตร์ และความชอบส่วนตัวของแต่ละคน เพราะพลังของศิลปะไม่ได้ถูกกำหนดโดยเครื่องมือที่ใช้ แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ศิลปินนั้น อยากจะสื่อสารออกมามากกว่า เพราะก็มีศิลปินอัลกอเรฟบางคนที่ไม่ได้เขียนโค้ดขึ้นมาสด อย่าง Dane Law ใช้วิธีการบันทึกเสียงการอิมโพรไวส์ด้วยอัลกอริธึมก่อนนำมาแสดงสด โดยเขาเรียกขั้นตอนนี้ว่า ‘aleatoric processes’ นี่ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าอัลกอเรฟคืองานศิลปะที่ไม่จำกัดรูปแบบ เพราะแม้แต่ภาษาหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้เขียนโค้ดอย่าง SuperCollider, TidalCycles, Gibber, Extempore, IXI Lang, puredata, Max/MSP, Fluxus, Sonic Pi, FoxDot หรือ Cyril ก็เป็นการเลือกใช้ตามแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนถึงกับเขียนโปรแกรมสำหรับทำ live coding ขึ้นมาเองด้วยซ้ำ

ถ้าให้เทียบกับสิ่งที่คนพอรู้จักคือการเขียนโปรแกรมแบบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หรือวิศวะคอม ฯ ซึ่งแนวคิดของวิศวะเนี่ย เขาเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง แต่ live coding เหมือนเป็นการสร้างอะไรที่มันวุ่นวายขึ้นมาแล้วตบให้ลงเป็นแพตเทิร์น นี่คือสิ่งที่ต่าง แล้วเรายังต้องยอมรับความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะบั๊กเพราะความที่มันเป็นคอม บางทีถ้าเขียนผิดก็ล่มได้ มันเลยท้าทายว่าคุณกล้าทำอะไรแผลง หรือเปล่า เพราะนี่คือการสร้างปัญหาชัด ” กิจ—กิจจาศักดิ์ ตริยานนท์ หรือ KijJazz Monotone เล่าถึงคอนเซปต์ของ live coding ให้เราฟัง เขาคือหนึ่งในนักดนตรีที่สนใจการเขียนโค้ดขึ้นมาเป็นเพลง ซึ่งอาจจะเป็นคนแรก ของบ้านเราที่เริ่มทำเพลงอิเล็กทรอนิกลักษณะนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนความมันของ live coding คือนักดนตรีเขาไม่ได้เตรียมแบบนั้นจากที่บ้านแล้วแสดงแบบเดิมเป๊ะ เขาสามารถเขียนโปรแกรมตามคนดูได้ สามารถเปลี่ยน strategy ตามอารมณ์ได้เลยตรงนั้น improvise มาก อันที่จริง live coding มันก็เหมือนการเปลี่ยนเครื่องดนตรีที่เราใช้สื่อสารเพลงของเรานั่นแหละ จากแค่การกดซินธ์ เล่นกีตาร์ ก็กลายมาเป็นการเขียนโค้ดลงไป

ด้วยความที่การเขียนโปรแกรมเป็นงานอดิเรกตั้งแต่เด็กของเขา บวกกับการมาทำงานด้านดนตรี กิจจึงอยากจะลองเขียนโปรแกรมสำหรับทำดนตรีด้วย ต่อมาเขาก็เริ่มมองหาระบบหรือภาษาที่ช่วยในการเขียนโปรแกรมต่าง ที่ใช้ในการสร้างเสียง ทั้งสำหรับการแสดงดนตรีอิเล็กทรอนิกสด และการทำ sound design ของงานเบื้องหลัง รวมถึง open source ต่าง ที่คนทั่วโลกช่วยกันพัฒนา ทำให้เขาพบว่าสังคมนี้เปิดกว้างและเป็นที่สำหรับทุกคนจริง เราชอบในไอเดียของ live coding เพราะเขาเหมือนเป็นชุมชนที่ซัพพอร์ตกันเอง ทุกคนจะแชร์กัน และเปิดให้ทุกคนเข้าไปศึกษาแล้วลองเล่นได้ มันไม่เหมือนยุคก่อนที่ความรู้พวกนี้เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม พวกมหาลัยต่าง ที่อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ที่เขาทำวิจัยเรื่องเสียงหรือดนตรี เขาจะใช้พวกนี้ในการเรียนการสอน มีรายงานการศึกษาออกมาตลอดเวลา

ในปี 2003 มีการเสวนาของกลุ่มคนที่ทำ live coding เกิดขึ้นที่ฮัมบูกร์ เยอรมนี พวกเขาเริ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนทักษะและร่วมศึกษาการเขียนเพลงด้วยโค้ดกัน จนเกิดขึ้นมาเป็นคอมมิวนิตี้ที่ชื่อ TOPLAP ขึ้นมาและกลายเป็นองค์กรนานาชาติสำหรับคนที่อยากพัฒนาให้การเขียนโปรแกรมสามารถนำมาใช้แสดงดนตรีสดได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งในเว็บไซต์ http://toplap.org ก็เป็นแหล่งรวมบทความและข่าวสารทุกอย่างของ live coding ทั้งงานด้านเสียง งานด้านภาพ รวมถึงรวบรวมฟรีซอฟต์แวร์สำหรับผู้ผลิตงาน แถมยังระบุตารางอีเวนต์ live coding ทั่วโลกไว้ในเว็บไซต์นี้ด้วย

ซอฟต์แวร์ที่พวกเราใช้ส่วนใหญ่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ซึ่งพอฟรีแล้วเราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่แชร์มันกับคนอื่น เพราะโค้ดมันก็เป็นภาษาหนึ่งที่ใช้สื่อสารได้เหมือนกัน และมันมีภาษาหลายแบบมาก ถ้าเราไม่แชร์ภาษาเหล่านี้กับคนอื่นมันก็ไม่ทำให้เกิดความหมายใหม่ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรRenick Bell ศิลปินอัลกอเรฟกล่าว

ด้วยการขยายตัวของชุมชนคนทำ live coding เริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ก็มีบางคนเริ่มคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกเขาจะสร้างจุดร่วมระหว่างวิถีแบบแฮคเกอร์ กีคเทคโนโลยี และคนที่ชอบการเข้าคลับเข้าไว้ด้วยกัน นี่จึงทำให้อัลกอเรฟเกิดขึ้นมาต่อยอดแนวคิดที่เล่ามาข้างต้น และความนิยมนี้เองก็ทำให้มีเทศกาลดนตรีอัลกอเรฟโดยเฉพาะที่ชื่อ ‘Algomech’ ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นปีที่สามแล้ว (Algomech ปีนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 16-19 พฤษภาคม ที่เมืองเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ) นอกจากจะมีปาร์ตี้อัลกอเรฟแล้ว พวกเขาจะนำเสนอศิลปะอื่น ๆ ผ่านรูปแบบของโค้ด หุ่นยนต์ และประดิษฐกรรมใหม่ ภายในงานนี้ด้วย

Antonio Roberts หรือ hellocatfood visual artist จากเบอร์มิงแฮมที่ทำงาน glitch art มาตั้งแต่ปี 2009 ก็ได้มารู้จักกับอัลกอเรฟและร่วมแสดงไปพร้อม กับศิลปินที่ทำดนตรี เล่าความรู้สึกของเขาที่มีต่อ live coding ว่าก็เหมือนกับที่ผมชอบคอมพิวเตอร์เวลาที่มันสามารถทำอะไรได้โดยอัตโนมัตินั่นแหละ แค่คราวนี้ผมอยากที่จะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของมัน แล้วยึดการควบคุมทั้งหมดมาเป็นของผมเอง นั่นทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมชอบ live coding คือทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากการทำมันสด เวลานั้น

สิ่งที่เป็นตัวชูโรงของอัลกอเรฟคือการแสดงสด บทเพลงที่คุณจะได้ยินอาจจะมีทั้ง drum and bass, dubstep, glitch music, math, techno, tech house, ambient หรือแม้แต่ฮิปฮอป ตามแต่ว่าศิลปินคนนั้น ต้องการจะนำเสนออะไร บางทีมันก็อาจทำให้คุณเต้นตามไม่ถูก แต่คุณจะรู้สึกเชื่อมโยงกับคนตรงหน้าคุณได้อย่างน่าประหลาด เช่นกันกับที่หนึ่งในทีมงาน Fungjaizine ของเราเคยได้รับชม จิมกานต์ปพนธ์ บุญพุฒ หรือ The ███████ (The Black Codes) แสดงสดที่ NOMA ก็บอกเล่ากับเราแบบนี้ เพราะไลฟ์ในช่วงหลังของพวกเขาไม่ใช่การใช้ซินธิไซเซอร์ แต่เป็นการ live coding และมีการฉายสิ่งที่เขาเขียนขึ้นมาลงไปยังผนังโล่ง เบื้องหลังเขา

นี่เป็นอีก era นึงของ The ███████ เรากำลังตัดสินใจว่าจะไปใน direction ไหน แต่ตอนนี้กำลังเขียนโปรแกรมของตัวเองไว้เล่นเอง ก่อนหน้านี้เราเริ่มจากการใช้ Sonic Pi แล้วรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ไม่ค่อยใช่ทาง ก็เลยหาใหม่และไปเจอกับ TidalCycles ซึ่งเป็นอะไรที่ถนัดมากกว่าจิมเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นสำหรับเรา สิ่งที่ทำให้โชว์อัลกอเรฟน่าสนใจคือมันมีหลายมิติ เรื่องเสียงอาจจะไม่ต่าง ไม่มีอะไรที่ดีกว่าอะไร แต่มันเป็นการเข้าถึงดนตรีในอีกรูปแบบที่พ่วงมาด้วยวิธีคิดบางอย่าง ตามแต่ลักษณะของเครื่องมือที่เรามี ตอนโชว์ก็วางแผนให้มีลำดับขั้น ไม่ใช่อยู่ดี เปรี้ยงออกมาเป็นโค้ดเลย คนดูก็จะพอเก็ตว่าเสียงที่เราสร้างมันเริ่มจากอันนี้แล้วป้อนโค้ดไปจนซับซ้อนขึ้น คล้าย modular คนแสดงคือคนที่เป็นผู้ฟังด้วย มันจะโต้ตอบกันระหว่างเรากับเครื่องมือของเราที่พอเล่นไปพักนึงแล้วจะให้แนวคิดแบบนึงกลับมา แล้วเราก็ต้องโยนไอเดียเพิ่มลงไป

เขาได้รู้จักกับ live coding เมื่อ 2-3 ปีก่อนจากอัลกอริธึมอีกเช่นกัน แต่เป็นอัลกอริธึมของ Facebook ที่ได้ suggest รูปภาพขึ้นมาบน news feed ให้เขาได้ตามต่อไปเรื่อย จนไปเจอกับวง Slub ของ Alex McLean ซึ่งทำให้เขาสนใจศาสตร์แห่งอัลกอเรฟขึ้นมาและเริ่มศึกษาด้วยตัวเองเพราะเขาไม่มีความรู้ของการเขียนโปรแกรมมาก่อนเลย “ก็ต้องเป็นคนกีคประมาณนึง

จากการคุยกับจิม ทำให้เราพบว่ามีศิลปินอัลกอเรฟในไทยอีกหลายคน อย่าง บ๊อกขจีศักดิ์ สอาดศรี เดิมทีเขาเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิก ที่รู้สึกว่าแนวคิดของของการเขียนเพลงหยุดนิ่งมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคโรแมนติก แต่วันนึงเขาไปเจอนักประพันธ์เพลงที่ชื่อ Iannis Xenakis ที่ใช้ห่วงโซ่มาร์คอฟ (Markov Chains) มาทำเป็นเพลง และทำให้เขารู้จักกับการเขียนเพลงโดยใช้อัลกอริธึม ต่อมาเขาก็ได้พบว่านักดนตรีสายนี้คือคนวางรากฐานเทคโนโลยีดนตรีที่ใช้ในปัจจุบัน อย่างสถาบันดนตรี IRCAM หรือ CCRMA ที่มีคนเก่ง อย่าง Ge Wang ก็เป็นแรงบันดาลใจอย่างดี

เหมือนกับที่ค้นพบเครื่องมือในยุคสำริด เหมือนกับเรารู้จักการเพาะปลูกในยุคเกษตรกรรม เหมือนกับการค้นพบเครื่องจักรกลในยุคอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงศิลปะและการมองเห็นโลกของเราไปโดยสิ้นเชิง เปิดประตูสู่คำถามใหม่ ซึ่งในแต่ละยุคก็มีภาพสะท้อนออกมาจากศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นยุคมืดที่ศาสนาเรืองอำนาจ เพลงทุกเพลงถูกแต่งให้พระเจ้า ยุคเรืองปัญญาที่ดนตรีมุ่งเข้าหาความสมบูรณ์ ภาพของ Georges Seurat ที่สะท้อนการมองโลกแบบยุคอุตสาหกรรม ดนตรี ของ Claude Debussy ที่แสดงให้เห็นแนวคิดของยุคล่าอาญานิคม dance music หรือดนตรีอื่น คือการสืบทอดองค์ความรู้เดิมของศิลปะในยุคเก่า สิ่งเหล่านี้พยามสร้างรูปแบบในทุก มิติ ไม่ว่าจะพื้นที่หรือเวลา แม้ว่ามีหลากหลายกระบวนการ แต่จุดมุ่งหมายคือผลลัพธ์ของการสร้างรูปแบบครับ มาถึงยุคศตวรรษที่ 21 อัลกอริธึมเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมคิดว่า algorithmic music คือดนตรีที่นำเสนอสติปัญญาของยุคเราได้ดีที่สุดแล้ว” บ๊อกยังบอกเราอีกว่า ขณะนี้เขากำลังรวบรวมตัวนักดนตรีอัลกอเรฟเพราะหวังว่าในอนาคตเราอาจจะมีเทศกาลดนตรีอัลกอเรฟให้ได้ชมกันแบบที่เชฟฟีลด์บ้าง

ความไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์สามารถดึงเอาแง่มุมใหม่ ของดนตรีออกมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ในโลกที่ทุกคนเชื่อว่าเทคโนโลยีจะกันให้มนุษย์แยกห่างจากกันไปทุกที Algorave อาจจะเป็นอีกความหวังที่ทำให้เรากลับมาเชื่อมต่อ และเกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นอีกครั้ง

แนะนำศิลปินอัลกอเรฟให้ไปฟังกันต่อ

yaxu (Alex McLean)
heavy lifting (Lucy Cheeseman)
kindohm (Mike Hodnick)
Joanne Armitage
ALGOBABEZ
Renick Bell
Varut_O
The ███████ (The Black Codes)

อ้างอิง
Algorave Generation
Algorave official website
Alex McLean on Music Coding and Algorave
ALGORAVE: THE LIVE CODING MOVEMENT THAT MAKES NEXT-LEVEL ELECTRONIC MUSIC
Run the code: is algorave the future of dance music?
AlgoMech festival
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้