Article Interview

‘เห็ดหอม’ aire เมื่อท่วงทำนองถูกบรรเลงผ่านห้วงอากาศ สุ้มเสียงที่มองไม่เห็นแต่ขาดไม่ได้

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj

แม้ aire จะไม่ใช่วงดนตรีหน้าใหม่นัก แต่เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยสัมผัสผลงานของพวกเขา ทั้งที่จริงแล้วคงมีหลายครั้งที่อาจจะได้ยินเพลงผ่านหูบ้างแต่ไม่ทราบได้ว่าเป็นงานของใครเพราะเป็นบทเพลงไร้เนื้อร้อง ซึ่งถ้าฟังครั้งแรกคงคิดว่านี่เป็นผลงานของวงร็อคฝั่งญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ทว่าหากฟังดี ๆ เพลงเหล่านั้นก็แฝงไว้ด้วยซาวด์ดนตรีแบบไทย ๆ ที่เราคุ้นเคย เมื่อสืบรู้ถึงที่มาที่ไปมากขึ้นก็พบว่านี่คือวงที่ base อยู่ในเมืองไทย และต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่าบ้านเรามีวงดนตรีมากฝีมือเช่นนี้อยู่ด้วยหรือ มาทำความรู้จักกับศิลปินกลุ่มนี้ให้มากขึ้นได้ ที่นี่

มารวมตัวกันได้ยังไง

เรโอ: ก่อนหน้านั้นผมกับจินเราทำเพลงมาด้วยกันได้สิบเดือน ก็ไม่เวิร์ค แล้วก็หายไปอีกสิบเดือน แล้วช่วงสิ้นปี 2011 จินก็มาทักในเฟซบุ๊กว่ามาทำเพลงกันใหม่อีกไหม ก็ได้เวลาช่วงนี้แหละครับ ประมาณสัปดาห์ที่สองของมกราคม 2012 จินบอกว่าเขาจะชวนเพื่อนคนญี่ปุ่นที่เล่นกีตาร์มาร่วมวงด้วย ซึ่งก็คือทัตสึโอะ ไอเร่เลยเริ่มมาจากสามคนนี้ แล้วเราก็ซ้อมกันสี่ห้าเดือน พอมิถุนายน ไอเร่ก็มีโชว์แรก จริง ๆ มันก็ไม่ค่อยพร้อมหรอก แต่เหมือนอยากลองโชว์หน้าเวทีดู ตอนนั้นหามือเบสกันมานานมาก ก็ได้เพื่อนอีกคนมาเล่นเบสให้ก่อน พอได้คนที่อยากให้มาช่วยก็ยังไม่ลงตัวทั้งที่ให้เพื่อนของทัตสึโอะแนะนำมาให้ก็แล้ว ทีนี้ก็มาเจอแวนกับฟิวที่ก็มีวงอยู่แล้ว ชื่อ Ghost Story จริง ๆ พวกเรารู้จักกันดีเพราะก็เคยดู แวนเป็นนักร้องด้วยตอนนั้น ฟิวเล่นกีตาร์ เป็นวงที่ดีด้วย เล่นพ็อพแจ๊ส (หัวเราะ)

แวน: จริง ๆ คือ อีโม ฮาร์ดคอร์ครับ

จิน: ตอนนั้นผมไปเล่นที่ฮาร์โมนิก้า ผมเล่นคาฮองในวงเขา แวนกับฟิวก็ไปดูวงนั้น ปกติแวนกับฟิวไม่ไปดูโชว์นะ

ฟิว: ช่วงนั้นกำลังแสลงดนตรีอยู่

แวน: ไม่รู้นะว่าวันนั้นมีวงอะไรเล่นบ้าง คือจินเขาก็มีอีกวงนึงเป็นวงร็อค แล้วพวกเราชอบวงนั้น พอรู้ว่ามือกลองเขาไปเล่นคาฮองในวงอะคูสติก เราก็เลยต้องมาแซว (หัวเราะ) พอไปดูจินก็เลยได้คุยกัน

จิน: แล้วผมก็ทำสติ๊กเกอร์ขาวดำเขียนว่า aire ไปแจกคนที่มาดูงานให้รู้ว่าเรามีวงนี้แล้วนะ แล้วก็ใช้หานักดนตรีไปด้วย ก็มาเจอแวนกับฟิวนี่แหละ บอกว่ามีวงใหม่ทำแนวร็อค ๆ กำลังหามือเบสอยู่ มีใครแนะนำไหม แวนก็เล่นเบสได้ ส่วนฟิวก็เล่นคีย์บอร์ดได้ เลยได้รวมตัวกันวันนั้นเลย ประมาณต้นเดือนมิถุนายนเห็นจะได้ วันที่ 9

ฟิว: จำเดือนได้ด้วย

จิน: เพราะวันที่ 9 เดือนที่ 6 คนญี่ปุ่นเรียกเลข 6 ว่า “โระคุ” แล้วเรียกเลข 9 ว่า “คิว” แล้วพอสองคำนี้มาอยู่ด้วยกันก็เป็น โระคุคิว ก็ไปพ้องเสียงกับคำว่าร็อคไงครับ

แล้วชื่อ aire มาจากอะไร

จิน: ไอเร่ หมายถึงอากาศ เหมือน air เพราะอากาศเนี่ย แม้เราจะมองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ เพลงของเราก็เป็นแบบนั้น

ตอนแรกตั้งใจจะให้เป็น instrumental rock เลยหรือเปล่า

เรโอ: ตอนแรกไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแค่ว่ามาเล่นดนตรีด้วยกัน มีเนื้อก็ดี ไม่มีก็ไม่มี ทีนี้ถ้าจะมีก็ไม่มีใครร้อง อีกอย่างดนตรี instrumental ที่นี่มีอยู่ไม่ค่อยเยอะ แต่ไม่ได้คุยกันหรอกนะว่าจะเล่น instrumental คือทุกคนก็อินกับเพลงแบบนั้นก็เลยทำออกมา

แวน: พอเป็นแบบนี้แล้วส่วนผสมของดนตรีก็เลยไม่ได้ฟิกซ์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ยิ่งผม จิน ฟิว เล่นฮาร์ดคอร์ เล่นแรงมาตลอด ส่วนทัตสึโอะจะเน้นกีตาร์หน่อย ๆ แต่เราไม่บอกกันว่าอย่าเล่นแบบนั้น มันไม่ใช่แนว ซึ่ง instrumental มันเหมือนเป็นจุดตรงกลางที่ทุกคนก็ใส่ไปตามแบบของตัวเองโดยที่เราไม่ติดขัดว่าห้ามเอาแบบนั้นแบบนี้เข้ามานะ ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

aire-02

ชื่อเพลงแต่ละเพลงมีที่มาจากอะไร

เรโอ: ส่วนใหญ่มาจากอารมณ์เพลง

จิน: เราทำเพลง Mizukiri มาครึ่งปี ตอนนั้นยังไม่มีชื่อ ก็เลยเรียกเพลงนี้ว่าเพลงใหม่มาตลอด (หัวเราะ) จริง ๆ Mizukiri หมายถึงเกมที่เอาหินแบน ๆ ไปปาแฉลบในน้ำ เพราะเพลงนี้มันมีเสียง ตึ๊ดดึ๊ด ๆๆๆ เหมือนจังหวะตอนที่หินแฉลบจ๋อม ๆๆๆ เลยตั้งชื่อแบบนี้

แวน: มี Before Flight ที่ตอนนั้นทัตสึโอะได้ไอเดียเพลงใหม่มาแค่ช่วงอินโทร แล้วฝากทุกคนแต่งต่อเพราะเขาจะต้องบินกลับไปญี่ปุ่นช่วงนั้นพอดี น่าจะเป็นเพลงเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอารมณ์เพลงเลย (หัวเราะ)

จิน: Turkish Ice ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเพลงเลย เราเล่น ๆ ไปแล้วนึกถึงนม ก็ถามเรโอว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี

เรโอ: เรานึกถึงไอศกรีมเหนียว ๆ ที่คนแถบนั้นกินกัน จริง ๆ จะตั้งชื่อว่า Turkish Ice Cream แต่ว่ามันดูงี่เง่าไป (หัวเราะ) ก็เลยตัด Cream ออก คนฟังจะคิดว่าเพลงนี้แม่งเหนียว คือมันก็มีความกวนตีนอะ

มีจุดที่เขวบ้างไหมว่าอยากเปลี่ยนไปเล่นเพลงแนวอื่น

เรโอ: สำหรับผมก็เป็นแบบนั้นอยู่ตลอดนะ ก็มีเปลี่ยนบ้าง

แวน: คือเราไม่มีจุดที่แบบ เฮ้ย ทำไมมันไม่เป็นแบบเดิม สำหรับเราเพลงใหม่ก็คือเพลงใหม่อยู่ตลอด ถ้ามีโอกาสให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ก็จะทำครับ เราพยายามไม่ให้ตัวเองเบื่ออยู่แล้ว ก็หาอะไรมาลองเล่นกันดู

ได้แรงบันดาลใจในการสร้างอะไรใหม่ ๆ มาจากอะไร

จิน: เราต้องโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน เมื่อเปรียบเทียบปีที่แล้วกับตอนนี้คือเราแตกต่างกับตอนนั้นมาก เพราะในทุก ๆ วันเราต้องเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ เราต้องมีอะไรที่ทำให้ตัวเองโตขึ้น แม้แต่เพลงเดียวกัน ถ้าลองกลับไปฟังตอนนั้นก็จะเล่นไม่เหมือนกันกับตอนนี้ มันมาจากหลายอย่างนะ คือทำอะไรมันก็ต้องได้บางอย่างเพิ่มขึ้นมาอยู่แล้ว การได้ดูโชว์วงอื่นก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เหมือนกัน

แวน: แรงบันดาลใจส่วนนึงของผมคือการที่ต้องเล่นให้ดีขึ้น บางทีเราไปเล่นโชว์กลับมาก็ได้รู้ว่าคนดูเขามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างจากการที่เราอยากจะสื่ออะไรกับเขา เราเคยพูดอะไรกับคนดูไปแล้วอยากจะพูดอะไรมากขึ้นกว่าเดิมบ้าง เป็นเรื่องของการสื่อสารมากกว่า

แล้วปฏิกิริยาคนดูเป็นยังไงบ้าง

แวน: ก็มีหลายแบบนะ ยืนนิ่ง ๆ ก็มี อันนี้จะให้ inspiration กับเราสูงมาก (หัวเราะ) ส่วนตัวด้วยความที่ผมโตมากับฮาร์ดคอร์ การยืนนิ่งมันช่างโหดร้ายเหลือเกิน ถึงแม้ว่าคนดูคนนั้นเขาจะเป็นคนที่แบบว่า ฉันเป็นคนที่ชอบยืนดูนิ่ง ๆ เพราะฉันตั้งใจฟังอะ แต่ผมจะคิดว่า งั้นโชว์หน้าผมจะทำให้คุณรู้สึกอยากโยก อยากขยับให้ได้

คนชอบบอก ๆ กันว่าวงนี้ยิ่งเล่น ยิ่งดี ยิ่งแน่น แรงไม่มีตก

เรโอ: ถ้ายิ่งเล่นแล้วยิ่งห่วยผมว่าก็ไม่ควรเล่นแล้วนะ (หัวเราะ)

จิน: อันนี้เราก็คิดอยู่ตลอดว่าโชว์ต่อ ๆ ไปที่จะเล่นในแต่ละครั้งต้องเป็นโชว์ที่ดีที่สุดครับ

ตลอดสามปีที่ผ่านมาคนฟังให้เสียงตอบรับอย่างไรบ้าง

ฟิว: คิดว่าน่าจะบวกนะ ส่วนใหญ่ที่คนพูดถึงวงเราจะบอกว่าเหมือนวงร็อคมากกว่าวงโพสต์ร็อคเพราะว่ามันโยกตามได้ headbang ก็ยังได้ อะไรประมาณนี้ พวกเราก็ฮาร์ดคอร์เหมือนกัน พอเห็นคนเป็นอย่างนี้ก็รู้สึกดีใจที่คนโยกตามได้

ทัตสึโอะ: เขาบอกว่าเรามี power เล่นแล้วดูมีความตั้งใจ เราได้ยินแบบนี้ก็อยากพยายามทำให้ดี

จิน: เราให้ความสำคัญกับคนที่มาดูเรามาก ถ้าเราโชว์แล้วไม่มีคน แบบนั้นเราไม่ต้องโชว์ก็ได้ แค่มีคนดูแค่คนเดียวหรือสองคนเราก็เล่นเต็มที่ ก็เหมือนกันที่แวนบอกครับว่าเราอยากสื่อสารกับคนที่มาชมว่า เราเล่นดนตรีเพื่อให้เขารู้สึกอะไรบางอย่างและส่งกลับมา เราก็เอาความรู้สึกของเขาที่เราได้รับมาผนวกกับความรู้สึกของเราอีกทีแล้วสื่อกลับไปผ่านการเล่นสด เนี่ย มันก็เหมือนการสื่อสารกัน สามปีผ่านมาเราออกมาอัลบั้มนึง แล้วก็ EP อีกหนึ่ง มีซิงเกิ้ลใหม่สองเพลง แล้วอัลบั้มกับ EP เราขายดีเกินความคาดหมาย ซึ่งการที่คนซื้อซีดีหรือมาดูโชว์เรานี่ก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนจากทุกคน แม้ feedback ที่ดีมันทำให้เราอยากเล่นดนตรี แต่เราไม่ได้เล่นดนตรีเพื่อ feedback อย่างเดียว

ไอเร่ หมายถึงอากาศ เหมือน air เพราะอากาศเนี่ย แม้เราจะมองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ เพลงของเราก็เป็นแบบนั้น

เป็นวงที่มักจะพูดเสมอว่าเล่นดนตรีเพื่อดนตรี การได้ค่าตอบแทนในโชว์แต่ละครั้งสำคัญไหม

ฟิว: เราเป็นวงเพื่อการกุศลครับ (หัวเราะ)

จิน: ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเราอยากเล่นดนตรีเป็นอาชีพเราคงไม่เลือกเล่นแนวนี้ ถ้าอยากเล่นเพื่อให้หาเงินได้เราคงไปเล่นพ็อพ

ฟิว: คงไม่มีแวนอยู่ในวง (หัวเราะ)

แวน: เรื่องเงินจริง ๆ เราก็มีเรทของเราเป็นธรรมดาแหละ มันก็มีหลายโชว์ที่เขาจ่ายได้ แต่สำหรับวงเราแล้ว สิ่งที่เราอยากจะทำคือเราอยากสื่อสารกับคนดู คือผมเข้าใจว่าหลาย ๆ คนถ้าเขาไม่มีเงินเขาก็ไปไม่ได้ เพราะเขาต้องมีค่าใช้จ่ายโน่นนี่นั่น แต่วงเราไม่ได้มี demand เยอะ ขอแค่คุณมีแอมป์ มีกลอง เราก็เล่นได้ ค่าน้ำมันถ้ามีก็ดี แต่ถ้าคุณไม่สามารถจ่าย แล้วเราไม่ยอมเล่น มันก็ไม่ได้ การที่เราได้เล่นมันมีค่ามากกว่าอยู่แล้ว ถ้าสมมติเขาบอกว่า เรามีคนร้อยคนที่อยากดูคุณ แต่เราไม่มีเงินให้คุณเลยนะ ช่วยมาเล่นให้หน่อยสิ เราก็ยินดีที่จะไปเล่นให้

เรโอ: เราก็ไม่ได้อยากจะเล่นฟรีหรอก ถ้างานมีเงินเราก็ยินดีที่จะรับ แต่ถ้าคนที่จัดงาน เช่น งานนักศึกษา งานกิฟท์ต่าง ๆ เขาไม่มีตัง แต่มีงานที่ดี มีคนอยากดูเราเล่น เราก็ยินดีที่จะไป อย่างที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นตามมหาลัย แต่เราก็อยากไปเล่นนะ ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราอาจจะยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนฟัง หรือเรายังไม่ดังพอ สิ่งที่เราอยากทำปีนี้คือ campus tour นี่มันผ่านมาเก้าเดือน สิบเดือนแล้ว เรายังไม่เคยทำเลย เคยไปเล่นแค่ลาดกระบังที่เดียว

จริง ๆ ที่ไม่กล้าชวนเพราะคิดว่าฝีมือไม่ใช่เล่น ๆ ค่าตัวต้องแพงแน่ ๆ

จิน: นี่เพิ่งรู้เหมือนกันนะว่าคนคิดว่าค่าตอบแทนเราแพง เราแต่งตัวแบบนี้เนี่ยนะ (หัวเราะ) สำหรับวงเรา อันดับแรกคืองานนั้นเป็นงานที่เราอยากเล่นหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเรา ส่วนเรื่องเงินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขาจะให้ค่าตอบแทนเราหรือเปล่าอันนี้ก็แล้วแต่ ถ้างานเขามีสปอนเซอร์หรือมีเงินให้ศิลปินก็ให้เถอะ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ค่าตอบแทนสำหรับผมมันเหมือนการให้เกียรติศิลปินจากคนจัดงาน

แวน: เอาเป็นว่าตอนนี้ใครอยากฟังไอเร่แต่ไม่มีตัง มาบอกเลย เดี๋ยวเรื่องเงินค่อยว่ากัน

จุดเด่นของไอเร่

ฟิว: เพลงเราไม่เนิบครับ ไม่ได้ว่าอะไรใครนะ เพลงเนิบ ๆ ผมก็ชอบฟัง แต่พอพวกเราลองทำดูแล้วมันไม่รอด คือพวกเรามันไม่เนิบอะ สมาธิสั้นมาก ให้เล่นนาน ๆ ไม่ไหว แต่ละคนเล่นไปสักพักก็ได้เวลาใส่แล้ว โยก ๆ กันแล้ว ปล่อยให้เล่น reverb คนเดียวไม่ได้นะ ฉันอยากเล่นบ้าง มันจะแตกต่างกันตรงนั้นมากกว่า

แวน: มันเป็นเรื่องที่เราได้ยินบ่อยนะที่พอคนรู้ว่า วันนี้จะมีวงโพสต์ร็อคมาเล่น คนก็จะ อ๋อหรอ แล้วพอไปดูเราเล่นก็แบบ นี่โพสต์ร็อคหรอ (หัวเราะ) ทำไมมันแรงขนาดนี้ อันนี้น่าจะเป็นจุดที่แตกต่างสุดแล้ว ไม่ค่อยมีท่อนบิ๊วกับเขาเท่าไหร่

บางโชว์ก็เล่นกันมันมาก เล่นเร็วกว่าปกติ

เรโอ: อันนั้นเป็นข้อบกพร่องของเราเอง ยังไม่แม่นพอ ไม่ได้ตั้งใจจะให้มันเร็วมาก แต่บางทีการเล่นมันรู้สึกว่าช้าไป เราก็เล่นให้เร็วขึ้น

แวน: เราไม่มีความใจเย็น มีแต่ความใจร้อน

จิน: เราเองไม่รู้สึกนะว่าเราเล่นเร็ว คือเห็นจากคนที่มาดูเหมือนเขาก็สนุกไปด้วยกันกับเรา หลังจากนั้นพอมาดูวิดิโอที่บันทึกไว้ก็เลยเห็นว่า อุ่ย เร็วมาก

คิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาไหม

เรโอ: ถ้าอยากให้วงเราโตขึ้นมันก็เป็นปัญหาครับ ถ้าเล่นในเวทีระดับเล็กกลางมันไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าไปเล่นเวทีใหญ่แล้วมันจะไปยากตรงที่ให้คนฟังรู้สึกตามไปกับเพลงได้ คือมันต้องมีความพอดีของมัน บางทีคนที่อยู่หลังสุดอาจจะไม่ได้รับสิ่งที่เราส่งไป เขาอาจจะบอกว่าพวกนี้เล่นกันไม่โปรเลย ถ้าเราตีได้ bpm 140-150 ทุกครั้งได้ก็ดี บางทีก็ช้า ก็เร็ว เริ่มไม่แม่น

แวน: ในเชิงความเป็นนักดนตรีเราก็อยากคุมตัวเองได้ อยากเร็วก็คือเร็ว ช้าก็คือช้า แต่อันนี้บางทีเราห้าคนเห็นว่าเมื่อกี้ช้านะเลยเร่งขึ้นด้วยกันหมด แต่พอมาดูวิดิโอ โอ้ ไม่ บางทีนี่คูณสี่เลย (หัวเราะ) ถึงแม้คนดูจะ enjoy แต่เราก็ควรที่จะควบคุมได้

นอกจากความไม่เนิบแล้วอะไรที่แตกต่างจากวงอื่น

เรโอ: มีการพูดภาษาญี่ปุ่นกันในวง (หัวเราะ)

แวน: อันนี้ในวงส่วนตัวเราคิดนะ คนอ่านอาจจะคิดว่าไม่เห็นจริงเลย เพลงของเรามันไม่ค่อยจะมีอารมณ์ของมันเอง แน่นอนว่านักดนตรีหลายคนอาจจะกำหนดว่า เพลงนี้เป็นเพลงเศร้า ฉันต้องการให้คุณเศร้า เพลงนี้ซึ้งนะ เพลงนี้เกี่ยวกับความว้าเหว่ แต่เพลงของเราค่อนข้างที่จะปล่อยตรงนั้นว่างเพื่อให้คนฟังเขาอยากคิดอะไรก็คิดไป คือมันมีจังหวะ มีความสนุก ความมันอะไรของเรา แต่บางทีผมเนี่ยเล่นเพลงเดิม แต่วันนี้ผมอารมณ์ไม่ดี ผมเศร้า ผมก็อินไปกับตรงนั้นได้ หรือว่าถ้าบางทีวันนี้ผมสนุก ผมแค่อยากขึ้นไปเล่นแล้วโยกกับมัน ผมก็ทำได้ มันอิสระได้เต็มที่กับสิ่งที่เราอยากจะให้กับคนฟังของเรา แม้แต่ชื่ออัลบั้ม You Are Here มันก็เหมือนกับที่เราอยากให้คุณแค่มาอยู่ตรงนี้ คุณจะเศร้า หรือคุณจะเฮ้วกับเพื่อนสักสิบคนคุณก็ฟังเพลงเราได้ เพลงมันไม่ได้บังคับคนดู บางคนจะเป็นแบบ ฉันอยากดูวงนี้ แต่วันนั้นมันไม่ใช่ฟีล มันก็ไม่ได้ คือคุณอยากมาแบบไหนก็ได้ มาฟังได้ตลอด เพลงเรามันไม่จำเป็นจะต้องแฮปปี้เพื่อฟังเพลงนี้ หรือถ้าแฮปปี้แล้วฟังเพลงนี้ไม่ได้นะเพราะเพลงมันเศร้า

เคยคิดไหมว่าคนจะไม่ชอบด้วยความที่เป็นแนวเพลงที่คนไม่ค่อยนิยมและวงยังไม่เป็นที่รู้จัก

จิน: เราห้าคนเล่นกันสนุกหมด เราไม่เคยคิดว่านี่เป็นเพลงที่จะต้องเล่นเพื่อใคร ไม่เคยกลัวหรือคิดว่าเพลงของเราจะมีคนไม่ชอบไหม คนที่ฟังเพลงเรา หรือคนที่มาชมโชว์ของเราตรงนี้สำคัญกว่า แต่ไม่ใช่ว่าแต่งเพลงเพื่อเอาใจเขานะ

แวน: คือเราไม่ได้ทำเพลงมาให้ใคร แต่เราสร้างเนื้อที่ให้คนมารับไปจากเรามากกว่า คือเรามีความสุขในการทำเพลงของเรา ยังไงเราเล่นเราก็มีความสุขอยู่แล้ว คนยิ่งมาร่วมงานเราก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้น เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ไงครับ แบบ ไม่มีใครฟังแล้วฉันจะเฟล ถามว่าตอนที่เราเริ่มวงเรากลัวไหมว่าจะไม่มีคนดู เราไม่กลัว เราคิดไว้ก่อนแล้วว่าจะไม่มีคนดู เป็นการทำใจไว้แล้ว (หัวเราะ) ไม่เคยหวังแต่แรกหรือคิดว่า ภายในสามปีเราจะต้องมีคนกดไลค์เท่าไหร่

เรโอ: แค่มีคนสัมภาษณ์ก็เป็นอะไรที่เกินความคาดหมายแล้ว เพราะตอนแรกเราคิดแค่ว่า มาเล่นด้วยกันเถอะ ไม่ใช่แบบ เราจะมีโชว์ เราจะออกทีวีนะ ส่วนซีดีที่ออกมามันก็มีเพราะคนเริ่มถามด้วย ถ้าเราเล่นไปเรื่อย ๆ ไม่สนใจมันก็อาจจะไม่ได้มาถึงตรงนี้ ถ้าเราตัวเล็กตลอดเรื่อง tempo ก็คงไม่เป็นปัญหา ไม่แคร์ แต่พอขึ้นเวทีใหญ่ เราต้องเริ่มอยู่ในขั้นที่คนจะต้องคาดหวังบ้าง ไม่ได้อยู่ที่เดิมตลอด

แวน: พวกเรา appreciate ที่คนมาดูเรา แต่มันเหมือนเป็น feedback ครับ ตอนแรกเราก็ไม่ได้แคร์ ไม่มีคนมาดูก็ไม่เป็นไร แต่พอมีคนมาดู ก็ยินดีที่เขามาดู เราก็ยิ่งอยากจะทำให้เขาแฮปปี้ คือคนมาดูเรา เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเขาอุตส่าห์มาดูเรา แต่ถ้าวันไหนไม่มีคนดู อย่างน้อยเราก็ภูมิใจที่ได้ไปเล่น ก็ตั้งแต่แรกที่เราคิดว่าคงไม่มีใครมาดูวงเรา แต่ถ้ามีคนมาชวนให้เราไปเล่นต่อหน้าคนสามพันคน เราก็ต้องพร้อมที่จะเล่นให้คนสามพันนั้นดู ด้วยความที่เราไม่มีความคาดหวังอะไรเลย ทุกอย่างที่เข้ามามันเหมือนเป็นโบนัสของเรามากกว่า

เคยเล่นงานที่ใหญ่ที่สุดกี่คน

เรโอ: ยี่สิบคน (หัวเราะ)

แวน: อ๋อ ใหญ่สุดนี่เลย Big Mountain เดินผ่านประมาณสามหมื่นคน (หัวเราะ) ไม่มีใครหันมาเลย ทุกคนเดินไหลกันไปเยอะมาก เหมือนพบเราระหว่างทางไปดูแสตมป์

เรโอ: น่าจะ Cat T-shirt รอบแรกที่ใหญ่สุดสำหรับพวกเรา เพราะมีเวทีเดียว คนดูก็เลยแน่น Cat Expo มีหลายเวที คนก็ไปดูเวทีใหญ่ คนที่ดูเวทีเราก็ไม่ได้เยอะมาก แต่คนดูก็ชอบมากกว่าที่คิดนะ

จิน: มีคนอยากดูแค่วงก่อนเรากับวงหลังเรา เราอยู่ตรงกลางระหว่างสองวงนั้น คนดูเลยยังอยู่ (หัวเราะ)

กดดันไหมตอนที่ได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่น

แวน: งานอะไรก็กดดันทุกงานน่ะครับ (หัวเราะ)

จิน: จะสิบคน ยี่สิบคนก็กดดันทุกงาน สำหรับผม งานเล็กงานใหญ่ไม่เกี่ยง เราคิดแค่ว่างานนี้ต้องเล่นให้ดีที่สุดในชีวิตเรา

เราเล่นดนตรีเพื่อให้เขารู้สึกอะไรบางอย่างและส่งกลับมา เราก็เอาความรู้สึกของเขาที่เราได้รับมาผนวกกับความรู้สึกของเราอีกทีแล้วสื่อกลับไปผ่านการเล่นสด เนี่ย มันก็เหมือนการสื่อสารกัน

ได้ประสบการณ์อะไรจากตรงนั้น

ฟิว: ได้เยอะมาก

เรโอ: ตอนที่อยู่ที่ไทย เราพยายามทำให้มันดีที่สุด พอเราไปญี่ปุ่น ด้วยสภาพแวดล้อมที่มันเป๊ะ มันแน่นกว่า ก็เลยทำให้ลิมิตของเราไม่ได้อยู่ที่แค่ตรงนี้แล้ว มันยกเพดานลิมิตของเราสูงขึ้นมาก แล้วเราคงไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ได้จากตรงนั้นถ้าเรายังเล่นอยู่แต่ที่นี่ เราอยู่ที่นี่เราอาจจะคิดว่าเราเล่นดีมาก ๆ แล้ว แต่พอไปอยู่ญี่ปุ่น มาตรฐานมันสูงกว่ามาก วงอื่นอาจจะไม่รู้ว่าเป็นยังไง ต้องไปสัมผัสเองจริง ๆ เราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราจะเล่นไปถึงตรงนั้น มันเหมือนเป็นการพัฒนาตัวเอง พอเรามาได้ถึงตรงนี้ แล้วเรากลับมาที่ไทย เราก็ต้องพยายามจะทำให้ถึงตรงนั้นทุกครั้ง อาจด้วยความที่เราเป็น nobody แล้วต้องเจอนักดนตรีเก่ง ๆ ด้วย

แวน: ที่เมืองไทยเราอาจจะกดดันทุกครั้งด้วยการที่เราอยากให้โชว์มันดี อยากให้คนดูมีความสุขกับโชว์เรา แต่ที่ญี่ปุ่นก็คือสิ่งนั้น บวกกับความที่ทุกวงเล่นเก่งกว่าเราด้วย ในเชิงเทคนิคเขาก็กินเราแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเพลงที่คุณแต่งมา แค่คุณเล่นให้เป๊ะเท่าเขามันก็ยากมากแล้ว อันนี้เราเคยพูดบ่อย soundsystem ที่นั่นเข้าขั้น perfect เลย แค่คุณเล่นผิดโน้ตเดียวนี่ชัดมาก คุณจะไม่มีโอกาสเดินลงมาแล้วบอกว่า วันนี้ฉันคงจะเล่นดีถ้าแอมป์ดีกว่านี้ ไม่มีข้ออ้างจริง ๆ แล้วไฟเขาก็ perfect ทุกอย่างมันเหมือนโชว์ใหญ่ตลอดเวลา ถ้าคุณทำอะไรไม่ดี หรือไม่สามารถจะต่อติดกับคนดูได้นี่คือผิดจากคุณ 100% วงก่อนเราเล่นก็แบบ โห โอเคเลย เราไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อเจอสิ่งนี้

จิน: ผมเล่นที่ญี่ปุ่นมานานแล้ว ประมาณ  10 ปี วงอินดี้ที่ญี่ปุ่นมันก็มีฮาร์ดคอร์ แล้วสำหรับวงเราที่ไปทัวร์ญี่ปุ่น ผมก็รู้อยู่แล้วว่าฝีมือวงญี่ปุ่นที่นี่สูงมาก แต่หลายวงเหมือนกันที่ไม่ค่อยมีเอกลักษณ์

เรโอ: เราอยากรู้เหมือนกันว่าการไปญี่ปุ่นของวงอื่น ๆ ทำให้เขาอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้นไหม คือเราก็ยังไม่เคยคุยกันเลย ถ้าเราเล่นอยู่แค่ที่นี่เราอาจจะโตช้ากว่านี้ตั้งปีครึ่งเลยก็ได้ คือมันทำให้เราโตขึ้นจริง ๆ แต่ไม่รู้ว่าวงอื่นรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่า ไม่เคยเห็นใครพูดว่าไปญี่ปุ่นมาแล้วมันทำให้เรารู้สึกฮึดขึ้นบ้างเลยนะ ไม่รู้ทำไม หรือวงที่ไปเขาอาจจะไม่อินกับสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศญี่ปุ่นก็ได้ เขาเลยเหมือนแค่เปลี่ยนไปเล่นสถานที่นึงที่แบบ ก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้สื่อสารหรืออินกับคนรอบข้างหรือคนดูขนาดนั้น

ฟิว: ผมว่าเรากดดันตัวเอง ไซโคตัวเองมากเกินไป (หัวเราะ)

แวน: ถ้าถามจินที่ก็เล่นกับคนญี่ปุ่นเป็นธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว สำหรับผมคนไทยมันมีความกดดันบวกเข้ามาอีก เพราะตอนผมเด็ก ๆ นักดนตรีญี่ปุ่นนี่เป็นไอด้อลผมเลยนะเพราะว่าเขาเก่งมาก ทั้งการเล่น การทำเพลงก็ทำได้ดีมาก ผมรู้สึกว่านี่เขาได้ให้โอกาสผมเพื่อไปทำสิ่งนี้กับเขาแล้ว เขาอุตส่าห์สละเวลามาฟังเราที่กำลังพยายามทำอะไรสักอย่าง ความกดดันมันก็เลยพุ่งมาก

คนดูที่นั่นคิดว่าการแสดงของเราเป็นยังไงบ้าง

จิน: คนที่มาชมเราเขาไม่ได้คาดหวังเลยนะครับว่าเราจะเล่นแบบไหน

เรโอ: งานที่เราเล่นที่ญี่ปุ่นจะเป็นแบบคล้าย ๆ ที่ฮาร์โมนิก้า เป็นร้านของเพื่อนของวงที่มาเล่น คนที่ไปงานก็เกือบ ๆ ร้อย ไม่ใช่งานใหญ่มาก แต่ก็ทำให้เราโตขึ้น

แวน: ถึงผมจะไม่ค่อยรู้ feedback ของคนที่ไปดู แต่เขาก็ไม่ได้ดูแบบเกลียดชังอะไรเรา แต่ feedback ที่ดีที่สุดส่วนตัวคือทั้งรอบแรกและรอบสอง เราได้ไปเล่นกับนักดนตรีคนนึง เขาเป็นคนดังมาก ใหญ่มาก ถ้าบ้านเราคงเทียบได้กับ แอ๊ด คาราบาว ชื่อ คัทสึอิซัง เขาเล่นไวโอลิน เป็นไอด้อลของทัตสึโอะด้วย อยู่วง Rovo เป็นแจมแบนด์ รอบแรกเขาคงมาเล่นกับเราด้วยความเอ็นดูอะ เด็ก ๆ พวกนี้มาก็ช่วย ๆ มันหน่อย แต่อีกรอบที่ไปเขาก็มาเล่นกับเราอีก แล้วนี่เขาจะกลับมา ยังไม่ official นะแต่พูดว่าเดี๋ยวจะขอเล่นกับพวกเราอีกรอบ สำหรับผมเขาเป็นนักดนตรีระดับโลก แค่เขาเจียดเวลามาคุยกับเราก็ถือว่า เราคงไม่แย่ ไม่น่าเกลียดมั้ง เขาสามารถเล่นกับใครก็ได้บนโลกนี้ แต่เขาเลือกเล่นกับเรา เขาไม่ได้รู้สึกว่าทำไมเขาต้องมาเล่นกับเด็กพวกนี้อีกแล้ว มันก็ไม่ต่างกับที่ถ้าเราอยู่ไทยแล้วแอ๊ด คาราบาว เดินเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า ไม่แย่นะ มันคงแบบ… (หัวเราะ)

จิน: เราไปทัวร์ญี่ปุ่นสองครั้ง ครั้งแรกเราไม่ได้ออกซีดีที่ญี่ปุ่น ไปเล่นโชว์อย่างเดียว ไม่มีใครรู้จักเรา รู้แค่ว่ามาจากไทย แต่ครั้งที่สองเราออกอัลบั้มก่อนแล้วค่อยไป ตอนนั้นรู้สึกว่า feedback ดี เพราะรอบสองเราไปญี่ปุ่นหนึ่งอาทิตย์ โชว์ 5 งาน คนที่มาดูเราครั้งที่หนึ่งแล้วประทับใจก็ตามมาดูเราเกือบทุกครั้ง

คนดูไทยกับญี่ปุ่นต่างกันไหม

จิน: ผมว่าไม่ค่อยต่างกันนะ

แวน: คือถึงเวลาที่เราอยู่บนเวที มันก็ไม่เกี่ยวว่าเดี๋ยวฉันดูเสร็จแล้วฉันจะไปซื้อซีดี เราเล่นแบบที่เราเคยเล่นแล้วเขาตอบรับเราเหมือนกันไหม เราก็ว่าไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ เราเล่นไม่ดีเขาก็ไม่ดูเหมือนกัน ไม่ใช่มาตรฐานคนดูไม่เหมือนกัน

aire-04

Consumer culture มีผลกับการต่อชีวิตให้วงดนตรีนั้น ๆ ไหม

จิน: แค่เขามาดูโชว์ แล้วเราเล่นดี ได้เสียงปรบมือ หรือการที่เขามาซื้อซีดีหรือของจากเราก็เป็นกำลังใจแล้วครับ แต่ถ้าเราเล่นไม่ดี ไม่ได้ขายซีดี ไม่มีคนปรบมือ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว เรื่องกำไรไม่สำคัญ ที่เราทำอยู่นี่เพราะอยากเล่นดนตรีที่เราชอบ

เรโอ: สิ่งที่ดีใจที่สุด ไม่ใช่ที่ขายซีดี หรือจำนวนไลค์ในเฟซบุ๊ก แต่คือคนที่มาขอให้โยกทุกคน แล้วก็อินกับวง ส่งเสียงมาให้เรา ถ้ามาแค่ห้าคน ห้าคนนี่ก็ช่วยโยกหน่อย คนยี่สิบคน ร้อยคน โยกกันทุกคนก็ดีใจมากแล้ว เราไม่คิดว่าจะเล่นดนตรีแล้วได้ตัง อย่างที่จินพูด เราเลือกที่จะเล่นอะไรที่เราชอบมากกว่าจะไปเล่นอะไรที่เข้าถึงง่าย ไม่งั้นเราคงไปอยู่ตรงนั้นนานแล้ว

แวน: ตอนนี้อินดี้เฟื่องฟูที่สุดที่เคยเจอในชีวิตผมแล้วเนี่ย ผมเล่นดนตรีมานานมาก แล้วจริง ๆ การดาวน์โหลดฟรีมันเป็นตัวช่วยสำคัญด้วยนะ แล้วยิ่งบอกว่าเดี๋ยวนี้เด็กมอปลายฟังเพลง ผมว่าเมื่อสิบปีก่อนที่เด็กมอปลายไม่ฟังเพลงเพราะเขาซื้อไม่ได้ ผมรู้ว่าตอนเด็กผมก็ซื้อซีดีไม่ได้นะ แผ่นละ 300-500 คุณซื้อซีดีหนึ่งแผ่นคุณไม่สามารถไปดูโชว์ใดได้เลยในปีนี้ เพราะนั่นคือค่าขนมทั้งหมดของผม หมดแล้ว การที่เขาโหลดเพลงฟรี หรือการที่เขาสามารถแชร์อะไรฟรี ๆ ได้ ผมว่าสำหรับอินดี้น่ะเวิร์ค แต่สำหรับในกระแสผมไม่รู้นะ เพราะเขาก็มีค่านั่นนี่ของเขาอยู่ แต่สำหรับเรา ถ้ามีคนบอกว่าเนี่ยไอเร่มาเล่นใกล้ ๆ แล้วจะไปดูมันมีค่ามากกว่าเราขายเพลงนั้นแล้วได้เงินกลับมา มันแตกต่างกันมาก ผมว่าเดี๋ยวนี้มีฟังใจ มีนิตยสารนั่นนี่ showcase อีกเยอะ เขาก็ยังอยู่กันได้นะ นี่ถ้าย้อนไปสักสิบปีนี่คงเป็นไปไม่ได้เลย ผมรู้จักคนเยอะมาก บอกว่าจะทำเว็บไซต์รวมอินดี้ แต่สองอาทิตย์ก็ล่มแล้ว แค่ทุกวันนี้มีคนเข้าไปคลิก มี traffic คนมาลงโฆษณา ก็เยอะมาก ผมเลยงงที่คนบอกว่าอินดี้จะตาย สุดยอดจะไม่จริงเลย

เรโอ: ถ้าจะตายมันก็ไม่ใช่อินดี้แล้ว อาจจะคนละความหมาย แต่ถ้าบอกว่าเล่นดนตรีแล้วไม่มีข้าวกิน ดังก็ไม่มีข้าวกินอยู่ดี

แวน: อย่าลืมว่าการดาวน์โหลดมันมีผลกระทบกับนักดนตรีที่อยู่ในค่ายใหญ่มากกว่าพวกเรานะ เพราะเราทำงานอื่น แล้วค่าใช้จ่ายในการเล่นดนตรีของเราน้อย ตอนเราซ้อมก็ซ้อมห้องธรรมดา ไม่ได้อยู่กับการได้เงินจากการเล่น พอเราเล่นเสร็จในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็ไปทำงานวันจันทร์ ไม่ต้องพึ่งเงินตรงนั้นเลย ดีไม่ดีเราจะอยู่ง่ายกว่าเขา เพราะถ้าเขาไปอัดอัลบั้มครั้งนึง ใช้เงินสองล้าน ถ่าย mv อีกสามแสน ออกทัวร์คืนละกี่แสน ค่าโรงแรมอีก กว่าเขาจะได้กำไร เราขายซีดีมา 700 แผ่นก็ เอาวะ กินข้าวกัน (หัวเราะ) ค่าใช้จ่ายในการออกอัลบั้มเราก็ต่ำ ค่าโปรโมทเราก็ต่ำ อินดี้จริง ๆ มันตายยากอยู่แล้ว

จิน: คำว่าอินดี้มันมาจาก independent เราคือวงอินดี้จริง ๆ ไม่ได้อยู่ในค่าย มีข้อดีเพราะก็ได้เล่นดนตรีแบบนี้เรื่อย ๆ

มองอนาคตของวงไว้อย่างไรบ้าง

แวน: เล่นโชว์เยอะ ๆ

เรโอ: ก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ เรายังไม่รู้นะว่าปีหน้า ๆ จะเป็นยังไง ก็ไม่ได้จะบอกว่าเราจะเป็นวงที่ดีที่สุดในประเทศไทย มันคงไม่ใช่ แต่ลึก ๆ ก็แอบคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ (หัวเราะ) คือไม่รู้เลยจริง ๆ เป้าหมายของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ผมก็แค่อยากจะเล่นไปเรื่อย ๆ อยากให้มันดังพอที่จะไปต่างประเทศได้ ไม่รู้ว่าตอนนั้นที่ไทยเราจะดีแค่ไหน อาจจะไม่มีใครสนใจในนี้แต่ยุโรปอยากให้เราไปเล่นมาก ก็อาจจะเป็นแบบนั้น แต่เป้าหมายก็คืออยากจะเล่นเยอะ ๆ นั่นแหละ ไม่ต้องเป็นที่หนึ่ง หรือออกซิงเกิ้ลแล้วติดท็อปชาร์ตทุกเพลง

จิน: เป้าหมายใกล้ ๆ นี้คืออยากไปทัวร์ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน ยุโรป อเมริกา อาเซียน campus tour ไปหมดครับ แต่อนาคตยาว ๆ คือก็อยากเล่นดนตรีไปเรื่อย ๆ นี่คือเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

ฟิว: อันนี้สนองนี้ดตัวเองเลยนะ อยากท้าทายตัวเอง ท้าทายคนฟังด้วย เวลาแต่งเพลงก็อยากพัฒนาไปเรื่อย ๆ

ทัตสึโอะ: ก็อยากเล่นไปสักสิบปี

จิน: อีกยี่สิบ สามสิบปีเราอาจจะเล่นแนวแจ๊ส (หัวเราะ)

แวน: วงที่ผมชอบเขาอาจจะไม่ใช่วงที่ดังที่สุด ในประเทศเขาอาจจะไม่ได้ดัง แต่เขามีช่วง career ที่ยาวนาน แบบวงนี้เล่นมายี่สิบปีแล้วนะ ไม่ใช่วงที่ดังเปรี้ยงแล้วอีกสามปีก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

ฝากอะไรกับผู้ฟังหน่อย

จิน: เราอยากให้คนที่มาดูเราเหมือนมามีส่วนร่วมกับดนตรีด้วยกัน

แวน: มาชวนเราไปเล่นเถอะครับ พวกเราไม่แพงครับ อยากให้คนมาดูโชว์ครับ เพราะพวกเราจะอยู่หรือจะตายก็ด้วยการเล่น live มากกว่า ซีดีเราก็ทำ อะไรเราก็ทำ แต่ว่าเราใช้เวลา 90% ของชีวิตพวกเรากับการซ้อมเพื่อไปเล่นให้คนได้ดู ถ้าไม่เคยดูก็อยากให้ลองมาดู ถ้าเคยดูแล้วไม่ชอบ ขอโอกาสอีกรอบแล้วกัน (หัวเราะ)

เรโอ: หลัก ๆ เราจะซ้อมทุกเสาร์หรืออาทิตย์ ทำแบบนี้มาสามปีแล้วครับ

วินัยเป็นเรื่องสำคัญ

เรโอ: นี่เป็นข้อดีของวงนี้ครับ เห็นหลายวงมากที่แบบ นาน ๆ ทีซ้อมที เรายังดีที่ว่าทุกคนไม่ได้ขัดข้องกับการซ้อมทุกอาทิตย์ ทุกคนตั้งใจที่จะมาเพราะคิดว่ามันสำคัญ นี่อาจจะเป็นจุดแข็งของเรามากกว่าเพลงเราด้วยซ้ำ มันคือวินัยที่เราขยันซ้อม คนจะถามว่า ไม่มีโชว์แล้วจะซ้อมกันทำไม หลายวงเขาจะเล่นเฉพาะของตัวเอง เล่นตามเพลงให้ถูกนะ แต่เรายังมีความผูกพัน เป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่า อันนี้อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกว่าเราเล่นกันแน่น เพราะเราเล่นด้วยกันบ่อย

ฟิว: มีแต่คนบอกว่าไอเร่ฟิตว่ะ

แวน: อันนี้เรื่องธรรมดาของนักดนตรี ด้วยความเป็นอินดี้มันไม่มีคนอื่นมาทำอะไรเรา ไม่มีคนโทรตาม ไม่มีใครดูแล เราต้องมีวินัยของตัวเอง บังคับตัวเองได้

หลังจากคุยกันเสร็จแล้วเดี๋ยวจะไปไหนกันต่อ

ทั้งวง: ไปซ้อมครับ


ติดตามความเคลื่อนไหวของ aire ได้ที่ Facebook Fanpage และรับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้