Article Story

รวม 6 ช่างภาพผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ดนตรีโลก ที่เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก

  • Writer: Geerapat Yodnil

เนื่องด้วยนิตยสารดนตรีอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Rolling Stone เพิ่งฉลองครบรอบ 50 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมา และไม่กี่อาทิตย์หลังจากนั้นก็ลงสกู๊ปเพื่อเป็นเกียรติแก่วาระที่ยาวนานในชื่อ ‘The 50 th Aniversary Photo Issue’ ว่าด้วยเรื่องราวเบื้องหลังภาพสุดงามจากปกต่าง ๆ ตลอด 50 ที่ผ่านมา ผ่านฝีมือสามช่างภาพในตำนานของนิตยสารอย่าง Baron Wolman, Mark Seliger และ Max Vadukul (อ่านได้ในหน้าเว็บหลักของนิตยสารหรือคลิกตรงนี้)

โอกาสนี้เองเราจึงขอแนะนำช่างภาพคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีโลก ผู้สร้างสรรค์ผลงานบนปกอัลบั้มบันดาลใจสำคัญ ๆ รวมถึงถ่าย portrait ให้นิตยสารดนตรีมากมาย หรือกระทั่งบันทึกภาพคอนเสิร์ตสำคัญที่ยังคงส่งแรงสั่นสะเทือนมายังนักฟังรุ่นใหม่ จะมีใครบ้าง เลื่อนลงมาอ่านกันเลย

 

Baron Wolman

6photo01

“คุณรู้จักหนังเรื่อง ‘Almost Famous’ ใช่มั้ย? ชีวิตของผมกับ ‘Rolling Stone’ มันเป็นอย่างนั้นเลยล่ะ” นี่คือคำพูดเปี่ยมความหลงใหลในอาชีพจากบทสัมภาษณ์ของ Baron Wolman กับนิตยสาร ‘AnOther’ เขาคือช่างภาพคนแรกของนิตยสารโรลลิ่งสโตนผู้ไม่ได้เลือกเรียนเกี่ยวกับด้านนี้มาโดยตรงตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา (บารอนเรียนเอกปรัชญาที่ Northwestern University ในชิคาโก) แต่ใช้ชีวิตหลังเรียนจบด้วย passion และเลือกทำงานเป็นช่างภาพให้กับสำนักข่าวเป็นอันดับแรก

ต่อมาในปี 1967 เขาก็ได้รู้จักกับ Jann Wenner นักศึกษาหนุ่มวัย 21 ปีผู้มีอาชีพเบื้องหลังเป็นนักเขียนคอลัมน์ดนตรีที่กำลังวางแผนจะสร้างนิตยสารดนตรีรูปในแบบใหม่ พร้อมกับเพื่อนนักเขียนของเขาที่ชื่อ Ralph J. Gleason และในแผนนี้เวนเนอร์อยากได้บารอนมาเป็นช่างภาพให้กับเขาด้วย ความโชคดีของเรื่องนี้ก็คือบารอนเองก็เป็นผู้ที่รักในเสียงเพลงเช่นเดียวกับเวนเนอร์ ภาพถ่ายในสต๊อกของเขาจึงมีวงดนตรีชื่อดังจากแวดวงฮิปปี้ ณ ตอนนั้นอย่าง Janis Joplin, Grateful Dead และเทศกาลดนตรีในตำนานอย่าง Woodstock ติดมาด้วย

ในช่วงแรกเริ่มก่อนที่นิตยสารจะวางแผน บาร์รอนยื่นข้อเสนอว่าเขาจะถ่ายงานให้เวนเนอร์ฟรี ๆ ด้วยข้อแม้ที่ว่าภาพทั้งหมดจะเป็นลิขสิทธิ์ของเขาคนเดียว แน่นอนว่าเวนเนอร์ตกลงและวางแผงนิตยสารดนตรีที่ชื่อโรลลิ่งสโตนได้สำเร็จในเวลาต่อมา นอกจากเนื้อหาและรูปแบบที่ทำให้โรลลิ่งสโตนโด่งดังแล้ว ภาพถ่ายลายเซ็นจัดของบาร์รอนก็เป็นอีกสิ่งที่วงการดนตรีช่วงยุค 70s ยังคงจดจำเสมอมา         

และถึงแม้เขาจะออกจากโรลลิ่งสโตนตั้งแต่ปี 1970 และล้มลุกคลุกคลานกับการทำงานนิตยสารด้วยตัวเองอยู่หลายครั้ง ปัจจุบันบารอนในวัย 80 อาศัยออยู่ที่ Santa Fe, New Mexico นอกจากการง่วนชิมอาหารรสจัดสไตล์ชิลีแล้ว เมืองที่พระอาทิตย์ตกสวยงามขนาดนั้นทำให้เราเชื่อว่าเขายังคงถ่ายรูปอยู่เสมอ

 

Pennie Smith

6photo02

ปกอัลบั้มที่สวยที่สุดของคุณคือชุดไหน? เราเชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีอัลบั้มที่ชื่อ London Calling อย่างแน่นอน และ Pennie Smith ที่เรากำลังจะพูดถึงคือเจ้าของภาพนั้น

ช่างภาพหญิงสายเลือดบริติชคนนี้ต่างจาก Baron Wolman ตรงที่เธอทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ ซึ่งตรงสายกับที่เธอเรียนจบมา ก่อนที่จะได้งานเป็นช่างภาพเต็มเวลาที่นิตยสาร NME พร้อมกับการมาถึงของงานแรกอย่างการถ่ายภาพโปสเตอร์เพื่อโปรโมตการทัวร์ของ Led Zeppelin ในช่วงปี 1970s

การถ่ายงานอย่างขะมักเขม้นทำให้ชื่อเสียงของเพนนี สมิธในฐานะช่างภาพหญิงสายดนตรี (ร็อก) ผู้สไตล์จัดด้วยภาพขาว-ดำโด่งดังมากขึ้นทุกครั้งที่งานของเธอถูกปล่อยออกมา และปี 1976 คือการพบกันครั้งแรกระหว่างเธอกับวงพังก์ร็อกที่ชื่อ The Clash และนั่นก็ทำให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมอีกเลย

“พวกเขารู้จักงานของฉันจาก NME ฉันคิดว่าที่พวกเขาเลือกฉันไปเป็นช่างภาพประจำวงเพราะฉันรู้ว่าจะทำให้ภาพเป็นอย่างไรกับดนตรีที่มีนอยซ์มากมายขนาดนั้น” เพนนีออกทัวร์กับเดอะแคลชในฐานะช่างภาพของ NME ใน US tour ของปี 1979 และเดือนกันยายนของปีนั้นเองที่เพนนีสามารถบันทึกช่วงเวลา ณ ขณะทำลายเบสบนเวทีของ Paul Simonon ในคอนเสิร์ตที่นิวยอร์กและภาพนั้นก็ถูกใช้เป็นหน้าปกอัลบั้มที่ 3 ในอีกสามเดือนหลังจากนั้น รวมถึงกลายเป็นหน้าปกอัลบั้มที่โลกจดจำมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้

“ฉันไม่ได้เป็นคนสร้างภาพนั้นขึ้นมาหรอกนะ ฉันแค่เติมบรรยากาศและปรับภาพที่พวกเขามีอยู่แล้วนิดหน่อยเท่านั้นเอง”  

 

Brad Elterman

6photo03

Brad Elterman อาจจะไม่ใช่ช่างภาพสายดนตรีที่ไปตามถ่ายโมเมนต์ระหว่างคนดูและศิลปินที่กำลังบ้าคลั่งหรือเมามายไปกับเสียงเพลงเหมือนคนอื่น ๆ แต่งานที่มีความเป็น street บวกกับแฟชันสูงทำให้งานของเขาแตกต่างในทางที่ดี

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นจากภาพถ่ายขณะแสดงดนตรีของ Bob Dylan บนเวทีในปี 1974 ตอนนั้นแบรดอายุ 16 ปี “การถ่ายรูปคือการศึกษาสำหรับชีวิตของผม”

เมื่อรู้ว่าต้องการอะไร แบรดจึงลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 19 และมุ่งหน้าสู่อาชีพนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ โดยการไปร่วมทัวร์ในฐานะช่างภาพกับศิลปินดังหลายวงของยุคนั้นอย่าง David BowieJoan JettThe Eagles, Rod Stewart และอีกมากมาย

งานภาพของแบรดเปี่ยมเสน่ห์และให้ความรู้สึกที่ทรงพลังอย่างน่าประหลาด ยิ่งดูยิ่งเหมือนสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของคนในภาพ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แบรดได้มีส่วนร่วมกับนิตยสารมากมายที่ไม่ใช่แค่ดนตรี และไม่ใช่แค่ในอเมริกาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘People Magazine’, ‘Rolling Stone’, ‘Creem’, ‘Rock Magazine’, ‘New York Post’ เป็นต้น

ปัจจุบันแบรดเป็นบล็อกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพที่คอยโพสต์งานต่าง ๆ ที่เขาชื่นชอบใน account Tumblr ของเขาเอง (ตามได้ตรงนี้) ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 20,000 คน แม้ว่าเราจะได้เห็นงานถ่ายศิลปินของแบรดน้อยลง แต่การไล่ดูภาพเซ็ตหลังที่มีวงรุ่นใหม่อย่าง Mac DeMarco, The 1975 หรือ Haim ก็ทำให้เราอยากให้เขากลับมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจังอยู่ไม่น้อยเลย

 

Charles Peterson

6photo04

ภาพถ่ายที่รุนแรงและเกรี้ยวกราดของดนตรีกรันจ์ยุครุ่งเรืองหลาย ๆ ภาพเกิดขึ้นจากฝีมือของ Charles Peterson ช่างภาพคนสำคัญแห่งยุค 90s ผู้จบสาขาถ่ายภาพมาโดยตรงจาก University of Washington ในปี 1987 ช่วงเวลาระหว่างปลายของปี 80s ถึงช่วงต้นของปี 90s คือระเบิดเวลาที่ปะทุแล้วของดนตรีกรันจ์ และแน่นอนว่าปีเตอร์สันหลงใหลมัน “ผมยังจำวันแรกที่ได้รู้จักกับวงอย่าง Nirvana, Alice In Chains และ Pearl Jam ในบาร์หรือคลับเล็ก ๆ ครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี มันคือช่วงเวลาที่เจ๋งที่สุดก่อนการมาถึงของ ‘Vouge’ ในปี 1992”

ปีเตอร์สันตามไปถ่ายภาพของวงอัลเทอร์เนทิฟเหล่านี้จนตัวเองได้กลายเป็นช่างภาพอย่างไม่เป็นทางการของค่ายต้นสังกัดของหลายวงอย่าง Sub Pop และส่งผลให้ภาพมากมายหลังจากนั้นของเขากลายเป็นหนึ่งในภาพจำที่สุดเมื่อคนฟังนึกถึงว่าดนตรีกรันจ์เป็นอย่างไร (ตามไปดูภาพและรำลึกถึงวันเก่า ๆ เหล่านั้นได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเขาเองตรงนี้)

Janette Beckman

6photo05

ชีวิตของ Janette Beckman ในช่วงปี 1970s ถูกบันทึกไว้ด้วยการทำงานให้กับนิตยสารไลฟ์สไตล์สุดเก๋ในอังกฤษอย่าง ‘The Face’ กับ ‘Melody Maker’ และถ่ายภาพให้กับวงดนตรีอย่าง The Clash, Boy George และ The Police แต่ที่น่าสนใจก็คือหลังจากนั้นในปี 1982 เธอก็ย้ายไปอยู่มหานครนิวยอร์ก และหันไปถ่ายภาพในซีนดนตรีฮิปฮอปอย่างจริงจัง

“ในตอนที่ฉันย้ายมาอยู่นิวยอร์ก ฮิปฮอปอยู่ทุกที่ ๆ เราเดินไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ” ไม่ใช่แค่เฉพาะเพลงเท่านั้น แต่เธอหลงใหลในวัฒนธรรมนี้ทั้งการมีอยู่ของ DJ การเต้นเบรกแดนซ์ไปจนถึงลวดลายกราฟฟิตี้บนกำแพง การถ่ายภาพของวง Salt ‘n’ Pepa ตอนบ่าย ๆ ใน Alphabet City เพื่อโปรโมตซิงเกิ้ลที่กำลังจะปล่อยคืองานชิ้นแรกในงานฮิปฮอปของเธอ

หลังจากนั้นเธอก็ยื่น portfolio นี้ไปที่ Def Jam Recordings (ค่ายต้นสังกัดของศิลปินชื่อดังอย่าง Kanye West, Common, Justin Bieber และอีกหลายคน) ซึ่งภาพ portrait อันทรงพลังของจาเน็ตทำให้ทางค่ายส่งศิลปินอย่าง LL Cool J, Public Enemy และ The Beastie Boys ไปให้เธอถ่ายหลังจากนั้น เธอให้เคยสัมภาษณ์ว่างานที่ชอบที่สุดในซีนฮิปฮอปของเธอคือการได้ไปถ่ายให้กับ Run DMC ซึ่งพวกเขาเป็นคนให้เบอร์โทรเธอด้วยตัวเอง

ปัจจุบันเจเน็ตเป็นอาจารย์สอนถ่ายภาพอยู่ที่เมือง Caracas ประเทศเวเนซุเอลา ความตั้งใจจริงของเธอคือการสอนให้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมฮิปฮอปผ่านการถ่ายภาพ และย้ำด้วยตัวเองว่าพวกเขาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนโดยส่วนมากคิดจริง ๆ

 

Mick Rock

6photo06_2

‘The Man Who Shot the 70s’ คือฉายาของช่างภาพคนนี้ เพราะเขาได้บันทึกภาพของยุคที่ดนตรีร็อกรุ่งเรืองที่สุด

ก่อนจะกลายเป็นช่างภาพชาวอังกฤษในตำนาน Mick Rock การทำงานของมิกก็เต็มไปด้วยผู้คนที่น่ามหัศจรรย์ตลอดเส้นทาง ทั้งการเจอกับ David Bowie ในปี 1972 และได้ถ่ายภาพเซ็ตภาพอันสวยงามถึงหลายครั้งหลายหน ทั้งการได้กำกับมิวสิกวิดีโอของ Nirvana (Heart Shaped box) และ Queen (Bohemian Rhapsody) ไปจนถึงการได้ร่วมงานกับ Lou Reed  แห่ง The Velvet Underground

ปกอัลบั้มชุดแรกของ Syd Barrett แห่ง Pink Floyd ที่ชื่อ The Madcap Laughs ก็เป็นผลงานของเขา หลังจากนั้นก็มีเครดิตตามมาเป็นหางว่าวด้วยวงระดับตำนานอย่าง The Ramones, Iggy Pop, Blondie, The Sex Pistols และอีกมากมาย

ถึงแม้ว่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะช่างภาพสายดนตรีร็อก ทว่าความสามารถของมิกก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่ความเฉพาะทางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะภาพของวงรุ่นใหม่ ๆ ในแนวดนตรีที่ต่างออกไปจากที่เขาเคยทำอย่างสุดขั้วเช่น Lady Gaga หรือ Snoop Dogg ก็ล้วนผ่านมือเขามาแล้วทั้งนั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า คำว่า ‘ตำนาน’ มาอยู่นำหน้าชื่อของเขาได้อย่างไร  

 

ถ้าการอ่านบทความนี้จบแล้วทำให้คุณอยากลุกขึ้นมาจับกล้องตัวโปรดเพื่อไปถ่ายรูปขึ้นมาบ้าง เราก็คงจะดีใจเอามาก ๆ : )

อ้างอิง
https://theprint-room.com/artists/28-mick-rock/biography/
https://www.mickrock.com/about/
http://www.anothermag.com/art-photography/7241/baron-wolman-the-eyes-of-rolling-stone-magazine
https://www.morrisonhotelgallery.com/photographers/n3mRZt/Baron-Wolman
http://photoclubatucla.com/index.php/brad-elterman-bio/
http://flavorwire.com/195349/10-rock-photographers-you-should-know/2
https://petapixel.com/2015/03/03/photographer-charles-peterson-captured-the-birth-of-grunge-music-in-seattle/http://www.soulcatcherstudio.com/exhibitions/peterson/
http://www.huckmagazine.com/art-and-culture/photography-2/rebel-cultures/
http://www.anothermag.com/art-photography/3660/janette-beckman-the-legends-of-hip-hop
https://www.morrisonhotelgallery.com/photographers/We47Ln/Janette-Beckman
http://www.snapgalleries.com/portfolio-items/pennie-smith/
http://teamrock.com/feature/2016-12-04/the-story-behind-the-clashs-london-calling-album-artwork
https://en.wikipedia.org/wiki/Pennie_Smith

 

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน