ครบรอบ 25 ปี การจากไปของ เติ้ง ลี่ จวิน ราชินีเพลงจีนที่เรายังคิดถึงเสมอ

Article Story

ครบรอบ 25 ปี การจากไปของ เติ้ง ลี่ จวิน ราชินีเพลงจีนที่เรายังคิดถึงเสมอ

เถียน มี่มี
นิเฉียน เด เถียน มี่มี~

‘รอยยิ้มนี่ฉันเคยเห็นที่ไหนนะ … อ๋อ ในฝันของฉันนั่นเอง …’ ดนตรีสดใสกับเสียงร้องที่หวานจับใจร่ำรวยเสน่ห์น่าหลงใหล แต่เมื่อรวมกับเนื้อเพลงที่เหงากินใจ ยอมรับในโชคชะตาที่ไม่อาจได้เจอกันอีก ไม่แปลกเลยที่เพลงนี้จะชนะใจคนทั้งโลกได้ เด็กรุ่นนี้ยังได้ยินเพลง 甜蜜蜜 เถียน มี่มี ที่มีชื่อไทยว่า หวานปานน้ำผึ้ง กันอยู่รึเปล่าไม่แน่ใจ แต่ผมที่โตมากับครอบครัวคนจีนอพยพ ก็มักจะได้ยินเพลงนี้เปิดวันละครั้งเป็นอย่างน้อย

แม้จะผ่านมา 25 ปีแล้ว แต่การจากไปของ เติ้ง ลี่จวิน หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ Teresa Teng ยังคงสร้างความสะเทือนใจให้กับแฟนเพลงทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าทุกครั้ง เมื่อโลกหมุนมาถึงวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของเธอ สาเหตุจากโรคหอบหืดเฉียบพลันส่งผลให้หัวใจล้มเหลว ระหว่างวันหยุดในเชียงใหม่ตอนปี 1995

ย้อนไปก่อนปี 1953 ที่เธอเกิด พ่อของเธอเป็นนายทหารฝ่ายก๊กมิงตั๋งที่แพ้สงครามจึงต้องหอบครอบครัวหนีมาอยู่ไต้หวัน เติ้งเลยได้เกิดที่นี่ ก่อนจะก้าวเข้ามาอยู่ในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 11 จากการประกวดร้องเพลงในรายการทีวี และกวาดรางวัลประกวดไปอีกมากมายหลายรายการ ซึ่งในยุคนั้นที่ยอดขายเทปกับแผ่นเสียงกำลังเติบโตอย่างมาก พ่อของเธอจึงอนุญาตให้เธอเลิกเรียนมาเป็นนักร้องเต็มตัว พร้อมเซ็นสัญญาออกแผ่นเสียงแผ่นแรกในชีวิต และใช้เวลาเพียงสิบปีในการก้าวขึ้นมาเป็นราชินีเพลงจีนที่มีแฟนคลับไปทั่วเอเชีย ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น

การออกประเทศครั้งแรกของเธอ ถูกทาบทามโดยภรรยาของลีกวนยู ผู้นำสิงคโปร์ ในงานคล้ายวันเกิดของตัวเอง ผลักดันให้เธอตระเวนร้องเพลงไปหลายประเทศ เธอยังเคยมาร้องเพลงที่ภัตตาคารในไทยด้วย

ด้วยความที่ไต้หวันเคยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น การไปโตที่ญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร หลังจากเซ็นสัญญากับค่ายเพลงในญี่ปุ่น เติ้งก็ได้ร้องเพลงญี่ปุ่นที่ต่อมากลายเป็นเพลงอมตะที่ทุกบ้านหยุดฟังไม่ได้ทั้ง 空港 สนามบิน และ 時の流れに身をまかせ ปล่อยให้ใจลอยหายไปในกาลเวลา แถมยังได้แข่งขันในรายการประกวดร้องเพลงช่องโทรทัศน์ญี่ปุ่นจนได้รางวัลนักร้องหน้าใหม่ยอดเยี่ยมมาประดับตัว

ความสามารถในการร้องเพลงภาษาจีนกลาง ภาษากวางตุ้ง ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำว่าเธอมีพรสวรรค์มากแค่ไหน ยิ่งได้ไปทัวร์ร้องเพลงในอเมริกาและแคนาดา ก็ยิ่งทำให้ยอดขายอัลบั้มของเธอพุ่งถึงจุดสูงสุดในหลายประเทศบนโลก ทุกวันนี้แผ่นเสียงอัลบั้มรวมเพลงของเธอยังขายได้ในราคาหลักแสนเลยทีเดียว

แม้คนสมัยก่อนจะไม่ค่อยชอบเพลงป๊อป แต่เพลงของเติ้งแตกต่างออกไป นักแต่งเพลงบางคนนิยามเพลงของเธอว่า ‘7 ส่วนคือความหวาน อีก 3 ส่วนประกอบด้วยน้ำตา’

มีอีกหลายเพลงที่ตราตรึงใจคนทั้งโลกมาตลอด หนึ่งในนั้นคือ 月亮代表我的心 วามรักของฉันที่มีต่อเธอสวยงามดั่งดวงจันทร์ บัลลาดช้า ๆ ที่เปรียบเปรยคำรักได้งดงาม ถูกหยิบมาร้องในโชว์อยู่หลายปี ก่อนจะถูกรวมไว้ในอัลบั้มจึงดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง จนนักร้องชื่อดังระดับโลกอีกหลายคนต้องหยิบมาคัฟเวอร์

我只在乎你 เธอคือคนเดียวที่ฉันห่วงใย อีกหนึ่งเพลงอมตะที่แฟนเพลงร้องได้ทุกคน หลังจากปล่อยเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นออกมาก็แตะอันดับ 6 บนชาร์ต Oricon ที่วัดกันด้วยยอดขายล้วน ๆ ก่อนจะนำกลับมาทำเป็นภาษาจีนกลางและได้รับความนิยมท่วมท้นไปทั่วเอเชีย

ช่วงปี 1980 ทางรัฐบาลปักกิ่งที่มีปัญหาตึงเครียดกับไต้หวันมาตลอด ก็แบนเพลงรักของเธอเกือบทั้งหมดในข้อหา ‘spiritual pollution’ มอมเมาคนฟังด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติ ส่งเสริมเรื่องเพ้อฝันรักใคร่ แต่คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ยังลักลอบฟังเพลงของเธอผ่านเทปผีซีดีเถื่อนที่ส่งตรงมาจากฮ่องกง ทำให้คนยิ่งพูดถึงชื่อของเธอมากกว่าเดิม ไต้หวันในยุคนั้นเองถึงกับใช้เพลงของเธอเปิดเสียงตามสายในการประท้วงแบ่งแยกดินแดน จนทำให้จีนแบนเพลงของเธอมาหลายสิบปี

ตัวเธอก็กล้าท้าชนและวิจารณ์เหตุการณ์เทียนอันเหมินอย่างตรงไปตรงมา พร้อมจัดคอนเสิร์ตเพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเรียกร้องประชาธิปตัยในปักกิ่งอีกด้วย ยิ่งมีปัญหาการเมืองพัวพันมาจากพ่อของเธอเองด้วย ยิ่งทำให้เธอไม่สามารถไปร้องเพลงที่จีนได้อีกเลย

แฟน ๆ ต่างรู้ดีว่าการได้ไปร้องเพลงในประเทศจีนคือความฝันอันสูงสุดของเธอ และเธอก็มีแฟนเพลงในจีนเยอะมาก ๆ จนถึงขนาดตั้งฉายาให้เธอว่า ‘เติ้งน้อย’ เพราะมีนามสกุลเหมือน ‘เติ้งเสี่ยวผิง’ ซึ่งในยุคนั้น ผู้นำจีนคนนี้จะประกาศนโยบายให้ชาวบ้านฟังทุกเช้า ชาวบ้านจึงพูดกันเล่น ๆ ว่าประเทศนี้ถูก ‘เติ้ง’ ยึดไปแล้ว กลางวันฟัง ‘เติ้งเสี่ยวผิง’ กลางคืนฟัง เติ้งลี่จวิน

แต่เธอก็ทำความฝันของตัวเองไม่สำเร็จจวบจนวาระสุดท้าย ท่ามกลางแฟนเพลงจากทั่วโลกนับหมื่นที่อยากไปร่ำลาเธอ

หลังจากที่เติ้งเสียชีวิตไม่นาน ก็มีหนังเรื่อง ‘Comrades, Almost a Love Story’ ออกมา ซึ่งถูกแบนจากการจีนทันทีเพราะขัดกับวัฒนธรรมอันดีงามของจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่องราวของจีนอพยพสองคนที่ได้เจอกันในฮ่องกงและอเมริกา แม้ฉากหน้าของมันจะเป็นหนังรักรอมคอมธรรมดา หนังกลับถูกวิจารณ์ว่าท้าทายอุดมการณ์ทางการเมืองของจีนอย่างก้าวร้าว แต่หลายคนคิดว่าเหตุผลที่หนังเรื่องนี้ถูกแบน เพราะได้หยิบเพลง เถี่ยนมี่มี มาประกอบหนัง แถมยังใช้ชื่อว่า ‘เถียนมี่มี’ เป็นชื่อหนังเวลาขายในพื้นที่เอเชีย รวมถึงในไทยด้วย

ห้าปีต่อมา บ้านอันหรูหราของเธอในฮ่องกงก็ถูกเปิดเป็นที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อรำลึกถึงการจากไปของดาวค้างฟ้าดวงนี้ และเปิดรับบริจาคให้กับการกุศลอีกมากมาย เมื่อเสียค่าเข้า 20 ฮ่องกงดอลล่า (เพียง 89 บาท) เราก็สามารถเข้าไปเป็นสัมผัสชีวิต เติ้ง ลี่จวิน ได้ ผ่านห้องรับแขก ห้องนอน และห้องร้องเพลงของเธอ ทุกอย่างถูกจัดวางไว้เหมือนเธอยังมีชีวิตอยู่ และจากบ้านออกไปเมื่อตอนเช้าตรู่

หนึ่งในผู้เยี่ยมชมให้สัมภาษณ์กับ Post Magazine ของ South China Morning Post ว่าเขาคิดเธอมาก ๆ ครั้งแรกที่ได้รู้ข่าวการตายของเธอบนวิทยุระหว่างขับแท็กซี่อยู่ มันทำให้หัวใจเขาหยุดเต้นและพังทลาย ทุกครั้งที่เห็นเธอบนทีวี เธอจะยิ้มอยู่ตลอดเวลา เสียงของเธอและท่าทางที่เรียบร้อย ในฐานะแฟนคลับ เขาจะทำให้เพลงและชื่อของเธอไม่หายไปแม้จะฟังมาตั้งแต่ปี 1960 แล้วก็ตาม

สมัยสงครามเย็นมีคำพูดว่า ‘ตายหนึ่งเกิดแสน’ เมื่อคนหนึ่งตายเพื่อสิ่งที่รัก อีกหลายแสนจะลืมตาตื่นขึ้นมา ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย แม้จะผ่านมาหลายสิบปี แต่ชื่อของ เติ้ง ลี่จวิน ก็ยังถูกพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ยังมีคนร้องเพลงของเธออีกมากมาย แม้แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่เธอไม่เคยเข้าไปเหยียบ ก็ยังมีจัดประกวดร้องเพลงของเธออยู่ทุกปี

หนึ่งในนั้นคือสาวน้อย หวางจิ้งเหวิน ที่เกิดมามีพรสวรรค์เหมือน เติ้ง ลี่จวิน ทุกประการ ค่ายเพลงรีบจับเธอเซ็นสัญญาและปั้นให้เธอเป็น ‘เติ้งลี่จวินน้อย’ ที่มาสานต่อความสุขที่ทุกคนถวิลหามาตลอด ทั้งชื่อเสียงและเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย แต่แล้วเธอก็ค้นพบว่าตัวเองไม่มีความสุขเลย จากการต้องเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์บ่อย ๆ แถมยังมาถึงทางตันของการเป็นนักร้องในฮ่องกงแล้วด้วย เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่ออเมริกาพร้อมค้นหาแนวทางของตัวเอง

ใช้เวลาแค่ปีเดียว เธอจึงหยิบแนวเพลง r&b กลับมาผสมสไตล์การร้องที่เปลี่ยนไป เธอออกอัลบั้มใหม่ Coming Home สลัดภาพของ ‘เติ้งลี่จวินน้อย’ ที่ทุกคนคาดหวังออกไป และเดบิวต์ในชื่อใหม่ว่า หวางเฟย หรือที่เรารู้จักในชื่อว่า Faye Wong ตามมาด้วย 十萬個為什麼 หนึ่งแแสนเหตุผล ที่มีแรงบันดาลใจจากเพลงตะวันตกมากขึ้น รวมถึงอัลบั้ม 讨好自己 ที่แปลว่า ‘ตามใจตัวเอง’ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้กับซีนดนตรีฮ่องกงมาก ปัจจุบันเธอก็กลายเป็นศิลปินหญิงที่ทั่วโลกยอมรับอีกคนหนึ่ง และลูกสาวของเธอ (Leah Dou) ก็เป็นศิลปินตามรอยไปอีกคน

ส่วนตัวผมรู้จักเธอจาก Eyes on Me เพลงประกอบเกมระดับโลกอย่าง ‘Final Fantasy VIII’ ซึ่งก็มีอารมณ์บันลาดช้า ๆ เหมือนเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน อยู่เหมือนกันนะ เรียกว่าความสามารถของทั้งสองคนนี่กินกันไม่ลงจริง ๆ และความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณของพวกเธอช่างงดงาม ในงานรำลึกการจากไปของเติ้งในปี 2015 เธอหยิบเพลง 清平調 มาร้องใหม่ ซึ่งเป็นเพลงที่เติ้งร้องค้างไว้ครึ่งเพลงก่อนจะจากไป โดยนำบทกวีจากราชวงศ์ถังมาทำเป็นเพลง Faye Wong เลยหยิบมาร้องให้จบเพลง เพื่อไว้อาลัยให้กับดาวค้างฟ้าดวงนี้

มีคำกล่าวที่ว่า ‘ไม่ว่าคุณจะเจอคนจีนที่ไหน คุณอาจจะได้ยินเพลงของเติ้งลี่จวินก็ได้’ ตัวผมเองก็ไม่ได้อินกับเลือดจีนในตัวเท่าไหร่ แต่เวลาพูดถึงเพลงจีนเมื่อไหร่ ผมก็มักจะคิดถึงเติ้งเป็นคนแรก เธอคือผู้หญิงที่มีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองและรักในสิ่งที่ทำ เธอเคยเกือบแต่งงานกับนักธุรกิจชื่อดังชาวมาเลเซียคนหนึ่ง แต่เธอเลือกที่จะถอนหมั้นเพราะครอบครัวฝ่ายชายบังคับให้เธอเลิกร้องเพลง และออกจากวงการตลอดชีวิต

ถ้าเธอยังอยู่ก็คงมีอายุ 67 ปี และน่าจะยังสร้างผลงานอะไรได้อีกมากมาย แต่แค่นี้ชีวิตของเธอก็โลดโผนกว่าศิลปินทั่ว ๆ ไปมากแล้ว ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี เติ้ง ลี่จวิน ก็จะยังเป็นราชินีเพลงจีนค้างฟ้าตลอดไป เสียงของเธอจะยังย้ำเตือนว่าเรายังมีหัวใจ และประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ที่ไม่ควรลืม

อ้างอิง
scmp.com
scmp.com
thaichinese.net
newyorker.com
asia.nikkei.com

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา