Article Guru

แจ๊ซคนบาปแห่งแดนเจ้าพ่อ – Sinified Jazz of Shanghai

หลองปั้น (ตึ่ง ตึ่ง ๆ) หลองเหล่า (ตึ่ง ตึ่ง ๆ) …” แค่ขึ้นอินโทรฯ มาแค่นี้ ผมก็เชื่อว่าคนไทยแทบทุกคนรู้ว่าคือเพลงประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” ถึงแม้จะไม่เคยได้ดูก็ตาม (อย่างเช่นผมเป็นต้น 555) ด้วยธีมของเดือนนี้ที่ได้จับพี่โป้ โยคีเพลย์บอย มาแต่งตัวเป็นเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ผมเลยขอเขียนเรื่องดนตรีที่เกี่ยวข้องกับเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุคเจ้าพ่อละกันครับ ลองอ่านกันดูครับ


ประวัติย่อก่อนเป็น “เซี่ยงไฮ้”

Old+Shanghai
ภาพวาดเมืองเซี่ยงไฮ้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17
ภาพจาก: Wikipedia

เมืองเซี่ยงไฮ้ในสมัยโบราณเป็นหมู่บ้านชาวประมง ชื่อว่า “หู่” ตามชื่อเครื่องมือจับปลาของชาวประมงในยุคนั้น มีทำเลที่ตั้งอยู่ตรงชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ใกล้ปากแม่น้ำแยงซีที่ไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จนในยุคสมัยราชวงศ์ถาง (ค.ศ. 618-907) ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าตำบล “ฮว้าถิง” แต่ก็ยังเป็นเพียงเมืองท่าเล็ก ๆ จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์ซ้ง (ค.ศ. 960-1127) ที่เมือง “ชิงหลง” ที่เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียงถูกลดความสำคัญลงเนื่องจากแม่น้ำอู่ซงที่เริ่มตื้นเขิน ทำให้เรือขนส่งสินค้าเริ่มใช้ท่าเรือของฮว้าถิงมากขึ้น จนได้กลายเป็นเมืองท่าหลักแทนเมืองชิงหลง ซึ่งพอเศรษฐกิจดีขึ้น ๆ ก็ยังมีโรงงานปั่นฝ้ายและทอผ้าไปตั้งที่นั่น ทำให้กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรนับแสนคน จนได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอ “เซี่ยงไฮ้” หรือ “ซ่างไห่” ในภาษาจีนกลาง ในปี ค.ศ. 1292 ในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368)

(ที่มาของข้อมูล: www.thairath.co.th)

เซี่ยงไฮ้ “นครปารีสแห่งตะวันออก”

Shanghai+1928

ย่าน The Bund หรือไว่ทัน ริมแม่น้ำหวงผู นครเซี่ยงไฮ้ ค.ศ. 1928
ภาพจาก: Wikipedia

ในยุคราชวงศ์ชิง ปี ค.ศ. 1843 หลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 จบลง ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายชนะขอทำสนธิสัญญานานกิง และบังคับให้รัฐบาลจีนยอมให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองท่าของตนเอง ซึ่งทำให้ชาติตะวันตกอีกหลายประเทศขอทำตาม จนเซี่ยงไฮ้ได้กลายเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และกลายเป็นเมืองใหญ่อันดับ 5 ของโลกในสมัยนั้น มีประชากรร่วม 3 ล้านคน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติอยู่กว่า 70,000 คน โดยได้มีการสร้างอาคารบ้านเรือนแบบยุโรปไว้อย่างสวยงามจำนวนมาก จนได้รับสมญานามว่า “นครปารีสแห่งตะวันออก”

(ที่มาของข้อมูล: www.thairath.co.th)

เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ตัวจริง

3+เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

จากซ้ายไปขวา: ตู้เยว่เซิน (杜月生) จางเส่าหลิน (张啸林) และ หวางจินหลง (黄金荣) 3 เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ยุคสุดท้าย
ภาพจาก: oknation.net

ในช่วงทศวรรษที่ 1920’s ถึง 1930’s เป็นช่วงที่เมืองเซี่ยงไฮ้เจริญรุ่งเรืองที่สุด เนื่องจากมีการนำเข้าของเงินทุนและวิทยาการจากชาติตะวันตกอย่างมากมาย ซึ่งในช่วงนี้เองที่เป็นยุคของเหล่าเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่เรา ๆ รู้จักกันผ่านละครโทรทัศน์ “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” นั่นเอง โดยตัวละครหนึ่งในเรื่องที่ชื่อว่า “ฟงจิ้นเหยา” ได้มีการคาดการณ์ว่าอิงประวัติชีวิตของเจ้าพ่อตัวจริงชื่อว่า “ตู้เยว่เซิน (杜月生)” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของเจ้าพ่อที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ยุคสุดท้าย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนสงครามเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นบุกประเทศจีนในปี ค.ศ. 1939

เจ้าพ่อทั้งสามมีชื่อว่า ตู้เยว่เซิน (杜月生) จางเส่าหลิน (张啸林) และหวางจินหลง (黄金荣) พวกเขาได้สาบานเป็นพี่น้องกันในแก๊งชิง ซึ่งเป็นแก๊งใหญ่ที่สุดในเขตไว่ทัน โดยร่วมกันทำธุรกิจค้าฝิ่น บ่อนคาสิโน ค้าประเวณี และกิจการผิดกฎหมายอีกมากมาย โดยเฉพาะหวางจินหลง (黄金荣) ซึ่งเป็นนายตำรวจยอดขี้โกง เขาใช้กลอุบายต่าง ๆ ทำให้กรมตำรวจและชาวบ้านเชื่อใจ จนได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายปราบปรามอาชญากรรม แถมยังได้เป็นที่ปรึกษากรมตำรวจหลังจากลาออกในวัย 60 ปีอีกต่างหาก

ในบรรดาเจ้าพ่อทั้งสาม มีคำกล่าวที่สรุปคุณสมบัติของพวกเขาว่า “หวางจินหลงโลภ จางเส่าหลินชอบตีฟัน ตู้เยว่เซินรู้จักใช้คน”

(ข้อมูลจาก: www.oknation.net)

ต้นกำเนิดดนตรีแจ๊ซแนว ‘Sinified Jazz’

Shanghai+jazz+club

คลับแจ๊ซในเซี่ยงไฮ้
ภาพจาก: www.vantage-magazine.com

ในยุค 1930’s ซีนดนตรีแจ๊ซในเซี่ยงไฮ้เจริญรุ่งเรืองมาก ไม่เพียงแต่มีนักดนตรีแจ๊ซจากทั่วโลกมาแสดงที่นี่ รวมถึงมือทรัมเป็ตอเมริกันผิวสีชื่อดัง Buck Clayton ที่ก่อตั้งวง Big Band ที่นี่ก่อนไปร่วมแสดงกับ Count Basie Orchestra ที่นครนิวยอร์กในเวลาต่อมา นอกจากนี้ในหนังสือ “I Didn’t Make a Million” ของหัวหน้าวงดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกันชื่อ Whitey Smith ได้บันทึกไว้ว่าเซี่ยงไฮ้น่าจะมีคลับแจ๊ซมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับเมืองที่มีขนาดเดียวกัน

ในปี ค.ศ. 1935 เจ้าพ่อตู้เยว่เซิน ได้สั่งให้ “หลีจิ่นฮุย (黎锦晖)” ผู้ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งเพลงจีนสมัยใหม่ ก่อตั้งวง The Clear Wind Dance Band วงดนตรีแจ๊ซที่มีสมาชิกเป็นคนจีนล้วนวงแรกของโลก ทว่าดนตรีแจ๊ซของเขากลับถูกตีตราว่าเป็น “Yellow Music” ที่หมายถึงดนตรีลามกอนาจาร ด้วยความที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเหล่าเจ้าพ่อต่าง ๆ ที่เปิดธุรกิจค้าประเวณี

การผสมผสานดนตรีพื้นเมืองของจีนเข้ากับดนตรีแจ๊ซของหลีจิ่นฮุยนี่เอง ที่ก่อให้เกิดแนวดนตรีชื่อว่า ‘Sinified Jazz’ โดยคำว่า ‘Sinified’ มาจากคำว่า ‘sin’ บวกกับ ‘-ify’ ซึ่งหมายถึง “การถูกทำให้บาป” หรือ “แจ๊ซของคนบาป” เนื่องด้วยเพลงแจ๊ซแนวนี้มักถูกแสดงในคลับที่เต็มไปด้วยแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การพนัน และโสเภณีในนครเซี่ยงไฮ้

(ข้อมูลจาก: www.vantage-magazine.com)

ความตายและการเกิดใหม่ของแจ๊ซเซี่ยงไฮ้

หลังจากที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจปกครองประเทศจีนในปี ค.ศ. 1949 รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งให้ดนตรีแจ๊ซผิดกฎหมายเนื่องจากมองว่าผิดศีลธรรม และได้สั่งปิดคลับแจ๊ซแล้วผันให้กลายเป็นโรงงาน รวมถึงได้จับนักดนตรีแจ๊ซมาทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ แถมยังมีการทุบนิ้วมือเพื่อไม่ให้เล่นดนตรีได้อีกต่อไปด้วย ทำให้ดนตรีแจ๊ซ รวมถึงวง The Clear Wind Dance Band ต้องตายจากไปในที่สุด

เพลง “The Shanghai Shuffle” โดย The Clear Wind Band ในปี ค.ศ. 2003

 ทว่าในปี ค.ศ. 1978 เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำประเทศจีนในตอนนั้น ได้สนับสนุนการเปิดประเทศเพื่อทำการค้ากับต่างชาติ รวมทั้งลดหย่อนความเข้มงวด และให้อิสระกับประชาชนมากขึ้นกว่าช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ทำให้ดนตรีแจ๊ซค่อย ๆ เริ่มหายใจขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ยังเป็นเพียงลมหายใจแผ่วเบา จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองที่มีนักดนตรีแจ๊ซชาวจีนสมัยใหม่ที่รวมตัวกัน และพยายามรื้อฟื้นแจ๊ซของเซี่ยงไฮ้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยนำชื่อ The Clear Wind Band มาใช้เพื่อให้เกียรติกับนักดนตรีรุ่นบุกเบิกเหล่านั้น

ในยุคปัจจุบัน ดนตรีแจ๊ซได้รับความนิยมในหมู่ชาวเซี่ยงไฮ้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหนึ่งในคลับแจ๊ซที่มีชื่อเสียงที่สุดของเซี่ยงไฮ้คือ JZ Club ที่เปิดในปี ค.ศ. 2004 และมีเทศกาลดนตรีแจ๊ซ JZ Festival Shanghai ที่เป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีแจ๊ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอีกด้วย

สรุป

ดนตรีก็เหมือนทุกอย่างบนโลกนี้ที่มีเกิด มีคงอยู่ มีดับไป มีเกิดใหม่ และมีการผสมผสานกับสิ่งอื่น ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ บทความนี้ของผมอาจจะไม่ค่อยยาวเท่ากับที่เขียนปรกติ แต่ก็หวังว่าจะให้ความรู้ความบันเทิงกับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ

Facebook Comments

Next:


Piyapong Meunprasertdee

นักวิชาการอุตสาหกรรมดนตรี รักแมว รักโลก เคยทำงานเป็นนักวิชาการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Sustainability & Climate Change) เคยมีวงอินดี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และจากการที่ไปทำงานในบริษัทเกี่ยวกับดนตรีอินดี้ที่อเมริกา ก็เลยมีความคิดอยากมีส่วนช่วยพัฒนาวงการดนตรีไทยให้มีความแข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้น