ทุกเสียงของคุณจะถูกได้ยินใน installation จาก Eyedropper Fill ที่ Tiger Jams CenterStage
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
ถ้าคุณเป็นคนที่ติดตาม Tiger Jams มาตั้งแต่ปีแรกก็น่าจะจำได้ว่ามีกลุ่มดีไซเนอร์ที่น่าจับตามอง 3 รายมาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ และหนึ่งในนั้นก็คือ Eyedropper Fill ที่สร้างงานให้เราได้ไปเล่นสนุกกันใน CenterStage มาแล้ว และในปีนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งกับ interactive installation อย่าง Voice of Youth ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับวัยรุ่นทุกคน ซึ่งมีเพื่อน ๆ ทั่วประเทศไทยได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมนี้กันไปแล้วในงาน Tiger Jams ตามร้านต่าง ๆ เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา
ส่วนตอนนี้เราอยู่กับ นัท—นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และเบสท์—วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย สองคนต้นคิดที่จะมาเล่าถึงที่มาที่ไปของ installation ชิ้นนี้กัน
ได้ร่วมงานกับ Tiger Jams อีกครั้ง รู้สึกยังไงบ้าง
เบสท์: สำหรับเราเขาเป็นลูกค้าที่น่ารัก เพราะว่าไม่จำกัดอะไรเยอะ แล้วก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับคนที่เขาเลือกมาจริง ๆ คือได้ทำอะไรที่เราว่าค่อนข้างสุด หมายถึงว่าได้ทำอะไรที่ใหม่และได้เงินด้วย (หัวเราะ) ปกติงานจ้างจะเป็นอะไรที่ตีกรอบมาก ๆ เลยไม่ได้ใช้ความสร้างสรรค์แบบ 100% แต่อันนี้ค่อนข้างจะอิสระ เลยเป็นโปรเจกต์ที่สนุก อีกอย่างคืองานนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนชิ้นนึง เราตอบไม่ได้ว่ามันเป็นงานที่เราภาคภูมิใจที่สุดหรือเปล่า มันอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่เราเจออะไรบางอย่างในระหว่างทางที่ทำให้รู้สึกว่าอยากทำงานแบบนี้อีก
จุดเปลี่ยนในที่นี้คือยังไง
เบสท์: เราพยายามทำอะไรหลายอย่างและพยายามจะไม่จำกัดตัวเอง ซึ่งมันก็แล้วแต่บริบทของงานด้วย ปกติคนจะมองว่าเราทำแค่ installation, lighting & sound แต่หลัง ๆ คนอื่นก็ทำกันเยอะแล้ว stage design คนก็เริ่มชินแล้ว เราเลยต้องหาอย่างอื่นที่คนสามารถจับต้องได้มากขึ้น โปรเจกต์นี้มันยาก เพราะว่าร้านเหล้าเนี่ยข้อจำกัดมันเยอะมาก เราเริ่มรู้สึกว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยน ถ้ามีแค่ lighting & sound มันไม่พอ installation เท่ ๆ คงเอาคนไม่อยู่ เราว่าคนดูในร้านเหล้ามันต้องสนุก เขาไม่รู้ไม่สนใจอะไร เลยควรมีอะไรที่เขา interact ได้
นัท: แล้วก็อยากทำให้บรรยากาศร้านเปลี่ยนไป ซึ่งเรามองว่าถ้าพยายามทำงานให้มันสวย ๆ เหมือนที่เคยทำแล้วไปอยู่ในร้านเหล้าพวกนี้คงโดนบรรยากาศร้านเหล้ากลบหมดเลย เราก็เลยต้องไหลไปตามร้านเหล้าด้วยเพราะต้องไปทั่วประเทศ แล้วร้านเหล้ามันบ้านมาก ฉะนั้นเราเลยต้องมาคิดว่าควรทำยังไง
เบสท์: บริบทนี้มันไม่เหมือนกับคอนเสิร์ตที่มีวงดนตรีมาเล่นแล้วมีเวที อันนั้นมันควบคุมได้ในธีมที่เราตั้งใจ เราก็เถียงกันอยู่ประมาณ 3-4 เดือน มีไอเดียเยอะมากตอนแรก แต่สุดท้ายเราตอบอะไรไม่ได้ดีกว่าการที่จะไปร้านเหล้าจริง ๆ เราก็เลยใช้เวลาประมาณนึงไปเดินตามร้านเหล้าหลาย ๆ แบบ ก็ไปเจอว่าพอถึงเวลาแล้วคนแม่งเมาจริงๆ วัยรุ่นที่อยากแสดงตัวตนมันจะขึ้นมาเต้นบนโต๊ะ หรือขอเพลงให้เพราะอยากจะคุยกับสาวโต๊ะอื่น หน้าที่นี้แต่ก่อนก็จะเป็นบ๋อยไง เราเลยคิดว่า หรือจะทำบ๋อยเคลื่อนที่ดีวะ แต่ยากไปว่ะ ก็เลยนึกไปถึงว่าอยากจะสร้างพื้นที่ให้ชิ้นงานอะไรซักอย่างที่มันได้ใส่ dialogue ของคนในนั้นไปด้วย เผื่อเขาอยากแสดงตัวตน อยากจะคุยกับโต๊ะตรงข้าม หรือจะเป็นที่ที่ทุกคนสามารถ connect กัน อีกอย่างนึงร้านเหล้ามันเสียงดัง ถ้าเพื่อนโทรหาว่า เฮ้ย มึงอยู่ไหน ก็คงไม่ได้ยิน หรือเดินหาเพื่อนไม่เจอ ไอเดียมันเกิดจากการพยายามจะแก้ปัญหา หรือสร้างอะไรสักอย่างที่ร้านเหล้าไม่มี บวกอีกไอเดียนึงที่ต้องไปทั่วประเทศ กลุ่มลูกค้าของ Tiger ก็เป็นวัยรุ่น เราเลยมาตีความความเป็นวัยรุ่นอีก แต่ก็มาคิดอีกว่าวัยรุ่นเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือมันเป็นมุมมองที่เรามองวัยรุ่น บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่าวัยรุ่นคิดอะไร บางทีเราไปคิดว่าวัยรุ่นต้องเป็นแบบนี้ ต้องออกไปกล้า ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นรึเปล่า คือลึก ๆ แล้วเราคิดถึงเรื่องการเมืองด้วย มันพูดถึงเรื่องที่ผู้ใหญ่ชอบพูดว่า วัยรุ่นควรเป็นแบบนี้ ไม่ใช่แบบนั้น แต่เราว่าเดี๋ยวนี้แก๊ปอายุมันไม่ค่อยห่างกันมากแบบสมัยก่อน วัยรุ่นกับผู้ใหญ่ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น แล้วเด็กเดี๋ยวนี้มีทางเลือก คนนี้ชอบอันนี้ มันมีตัวตนที่แตกต่าง เราเลยคิดว่าทำงานนี้ขึ้นมาเพื่อลองถามวัยรุ่นจริง ๆ เลยไหม แต่วัยรุ่นเดี๋ยวนี้เราว่าเขาฉลาด อันไหนที่เขารู้แล้วว่าแบบนี้ขายกู มันอาจจะไม่ค่อยอิน ช่วงนี้ทีมเรากำลังสนใจเรื่องความเป็นวัยรุ่นอะไรบางอย่างที่แบบมันอยู่ในความหลากหลายทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เราอยากรู้ว่าเด็กวัยรุ่นแม่งจะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่งยังไง หรือสุดท้ายมันก็ใช้ชีวิตแบบช่างแม่งไปเลย
มันเลยเกิดมาเป็นชิ้นงานที่เป็น installation โหลด application มาพิมพ์ แล้วในนั้นมีฟังก์ชันที่ บันทึกข้อมูลได้ว่าอายุเท่าไหร่ เพศอะไร ในคำถามนี้คนภาคเหนือคิดอะไร คนภาคกลางคิดอะไร เหมือนเป็นการเดินตั้งแต่เหนือจรดใต้ที่ได้เก็บโพลความคิดของวัยรุ่น งานนี้เลยพลัดจากการที่เป็น lighting installation สวย ๆ ในร้านมาเป็นการเก็บข้อมูล ซึ่งอันนี้ดีตรงที่ว่า วัยรุ่นก็ได้เห็นเสียงของตัวเอง ได้ลองพิมพ์ มันก็ไปลิงก์กับแคมเปญขอฟังใจกับเอเจนซี่ว่า ระหว่างที่พิมพ์ไม่ใช่ทวีตขึ้นไปเหมือนเฟสบุ๊กที่พิมพ์ไปแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น เหมือนบ่นเฉย ๆ ส่วนอันนี้พิมพ์ไปแล้วได้รางวัล มันเกิดผลจริง ๆ
เรารู้สึกว่าบางทีเราพิมอะไรไป ตะโกนอะไรไป ไม่มีอะไรกลับมา เราเรียกร้องอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายผู้ใหญ่ในบ้านเราก็ไม่ได้ให้อะไรกลับมา เราเลยอยากสร้างแนวคิดนี้ให้เกิดใน commercial ของเรา แต่อาจจะไม่ได้เป็นการเมืองฮาร์ดคอร์ แค่ได้ชุดความคิดหรือต้นแบบตรงนั้นมา สมมติถ้าทำงานการเมือง ๆ เลย เอาจอไปติดตั้งในเมือง มีคำถามเด้งมาในแต่ละวันที่จะพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม คนสามารถทวีตให้มันเกิดอะไรขึ้นก็ได้ งานนี้เลยไม่ใช่แค่ทำงานเดียวแล้วจบ แต่ว่ามันเป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ใช้ประโยขน์ได้หลายทาง ข้อมูลก็สามารถส่งไปให้เอเจนซี่ได้เผื่อเขาต้องทำรีเสิร์ชกลุ่มตลาด และเราสนใจเรื่อง big data ใครก็ตามที่เล่น application หรือเปิดเฟสบุ๊ค แม่งก็เก็บข้อมูลเราไปหมดแล้ว เราจะรู้ว่า lifestyle เขาเป็นยังไง พวกเฟสบุ๊คหรือกูเกิ้ลที่มันให้เราใช้ฟรี มันรวยเพราะเก็บข้อมูลทุกคนแล้วเอาพวกนี้ไปขายต่อ อันนี้มันเอาไปใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ในแง่ของ Tiger และ ฟังใจ สามารถเอาไปพัฒนาว่าจะทำแคมเปญอะไรต่อ หรือเด็กวัยรุ่นคิดประมาณไหน
นัท: เราก็เลยลิสต์เรื่องคำถามกันอยู่นานมากว่าควรจะเป็นคำถามอะไร เราก็เป็นอีกคนนึงที่คิดว่าวัยรุ่นต้องสนุกกับคำถามแบบนี้แน่เลย แต่พอมาเจอของจริงแล้วไม่ (หัวเราะ) คำถามที่จริงจังหน่อยนี่เงียบเลย เหมือนเราลืมไปว่าถ้าเป็นเราเองอยู่ในนั้นก็ไม่น่าจะพิมพ์อะไรที่ต้องคิดเยอะ
เบสท์: เช่นมีคำถามว่า อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเอง อยากบอกอะไรกับพ่อแม่ สมมติเรากินเหล้ากับเพื่อนก็อยากจะคุยเรื่องที่จริงจังบ้าง แต่พอโยนไปบางทีมันก็ไม่ตอบ
นัท: แต่พอถามว่าเมื่อโดนเทชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง แค่เนี้ย ตอบกันมาเยอะมาก เลยทำให้รู้ประมาณนึงเลยว่าคนตรงนั้นเป็นยังไง มันก็เปลี่ยน strategy ของเราเหมือนกันว่าใช้ต้องคำถามที่เป็นประมาณนี้แหละไม่ต้องจริงจังหรอก แต่มันอาจจะไม่ได้แยกกันขนาดว่าวัยรุ่นเชียงใหม่คิดแบบนี้ วัยรุ่นกรุงเทพ ฯ คิดแบบนี้ แต่แม่งพูดได้ว่าวัยรุ่นที่เป็น target ของ Tiger และก็เป็นแฟนเพลงของวงที่มาเล่นเป็นยังไง
เบสท์: สุดท้ายข้อมูลพวกนี้เราจะนำมาเรียบเรียงวิเคราะห์ใหม่ จะจัดกลุ่มข้อมูลยังไง แล้วเอาไปแสดงในงาน Tiger Jams CenterStage คนที่เข้าไปในงานก็จะมีชิ้นงานที่เขาจะได้เล่นด้วย และได้เข้าไปฟังเสียงวัยรุ่นคนอื่น ๆ ที่เคยเล่นมาก่อนหน้านี้ด้วย มันก็เหมือนเป็นแท่นศิลาจารึก (monolith) ที่มันเดินทางได้ มันคงดีถ้าวัยรุ่นมาได้ฟังเสียงของคนรุ่นเดียวกัน บางคำตอบถึงมันจะตลก แต่จริง ๆ แอบเศร้า แล้วมีคนเก็ตเหมือนกัน เราหวังว่าคนที่เข้าไปดูน่าจะได้สะท้อนตัวเองด้วย แบบ อันนี้มันคิดเหมือนกูเลยวะ
ซึ่งคนก็เล่นกันเยอะเหมือนกัน
เบสท์: ใช่ ๆ ยิ่งตรงลาดกระบังนี่แบบเละเทะเลย คนเล่นกัน 500-600 ครั้ง ออแกนิกมาก แปลกดี เคยคิดว่าร้านนี้คนจะไม่เล่น หลาย ๆ ที่แค่ร้อยกว่าครั้ง
นัท: แต่จริง ๆ มันมีปัจจัยเยอะมาก ด้วย target ของร้านเอง หรือตอนที่เราไปใต้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กมหาลัยก็ไม่อยู่กัน เราก็จะไม่ได้กรุ๊ปนั้น จะไปเจอแบบพิมพ์ happy birthday เฉย ๆ หรือแซวนักร้อง มันก็จะเป็นอีกแบบนึงเลย
เบสท์: พวก Parking Toys งี้คนที่มาไม่ใช่วัยรุ่นมหาลัย เป็นแบบ 25-26 เรารู้สึกว่าเค้าก็จะไม่เล่นอันนี้กันเท่าไหร่ คือถ้าเป็นเด็กมหาลัยแบบลาดกระบังมันจะเกรียนมาก จะเล่นกันเยอะ ซึ่งมันทำให้เราได้ research ไปด้วยว่า target คน มันไม่เหมือนกันจริง ๆ
นัท: เราต้องทำงานกับพิธีกรสุด ๆ ต้องมาคุยกับเราทุก ๆ เบรคว่า ครั้งที่แล้วทำไมคนไม่เล่นวะ เขาก็บอกให้เปลี่ยนคำถามเลยดีกว่าไรงี้ เราก็ต้องพึ่งเขาด้วยนะ ตัวเขาต้องไปอยู่แคมเปญ Tiger เยอะมาก แล้วต้องป็นจุดศูนย์รวมความสนใจของคนในร้าน ตอนหลังเลยเปลี่ยนคำถาม อย่างที่ลาดกระบังเวิร์กมากเพราะมีจอมาอยู่บนเวทีอย่างเดียวเลย พิธีกรถามตอบโต้กับอันนี้ได้ทันทีเลย แบบ ‘โดนเทแล้วเป็นไง เอ้า! ไอนี่แม่งตอบมาแบบนี้ เขาจะมาเห็นมั้ยเนี่ย’ มันสนุก มันออแกนิก แต่บางร้านแคบสุด ๆ แล้ว พิธีกรก็เข้าไปช่วยไม่ได้ บวกกับการที่ target ไม่ได้เป็นคนเล่นด้วยก็ยากเหมือนกัน ไม่ได้กริบแต่ก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์ เรามองว่าอันนี้เหมือนสเต็ปแรกที่ลองขยาย เพราะเราไม่ได้ทำแค่ visual lighting ประกอบเสียง เราใส่เนื้อหาอะไรบางอย่างเข้าไปด้วยเพื่อดูว่าคนจะ react ยังไง
ไอเดียที่โยนทิ้งไปก่อนจะมาเป็น Voice of Youth มีอะไรบ้าง
นัท: บอลลูนแดนซ์ที่มันตั้งหน้าคอนโด จะเอาตัวนั้นขึ้นมาสร้างอาณาจักรของ Tiger ให้มันฟุบฟับ ๆ แบบพอเฮกันแล้วมันจะฟู่ขึ้นไป พอไม่พูดไรแล้วก็เงียบ แต่มันใช้พื้นที่ให้เยอะ
สิ่งที่จะได้เจอใน CenterStage จะต่างจากร้านเหล้าอื่น ๆ ยังไง
เบสท์: ก็ยังเล่นได้เหมือนเดิมนะ สเกลใหญ่ขึ้น คุณก็จะได้เห็นว่างานย่อย ๆ ที่เราเก็บรวบรวมมาคนอื่นเขาคิดยังไงกัน เราจะเอาไปคัดเลือกแล้วขึ้นโชว์ อาจจะมี installation ที่คนมายืนดู จะมีส่วนที่เป็น exhibition กับ real-time เล่นได้จริง
นัท: กำลังอยู่ในขั้นพัฒนากันอยู่ จะดูว่าคำตอบที่ได้มาจะเอามาพัฒนาอะไรได้บ้าง จะเล่นเรื่องอายุ หรือเพศได้หรือเปล่า ก็ต้องรอดูครับ
พอพูดถึง big data ในอนาคต Eyedropper Fill อยากทำอะไรกับตรงนี้อีกบ้าง
เบสท์: ส่วนตัวเราว่างานมันยังไม่สมบูรณ์ในแง่ของการเซ็ตข้อมูล มันยังหยาบ ยังลวกไป งานต่อไปอยากจะพัฒนาตรงคำถามคำตอบตรงนี้ และเราอาจจะดึงคนที่ทำงานตรงนี้มาทำด้วย งานนี้อาจจะไม่อยู่ใน commercial อย่างเดียว แต่เราอยากทำงานโปรเจกต์ส่วนตัวที่มันฟังเสียงคนบางประเภทด้วยโดยที่ไม่ต้องมีกรอบว่าจะต้องสนุก หรือมีคอนเซปต์มาครอบไว้มันอาจจะกว้างมากกว่านี้ แต่อันนี้ก็เป็นแพลตฟอร์มนึงที่น่าสนใจมาก ๆ แล้วเราก็รู้ประมาณนึงว่าหลังจากนี้ถ้าเราจะทำอะไรอีกขั้นนึง
ตอนนี้ทุกแบรนด์ค่อนข้างมองว่าวัยรุ่นเป็น target สำคัญ และมักจะชอบตีกรอบว่าวัยรุ่นต้องสนุก
เบสท์: เรามองว่าไม่ใช่ว่าวัยรุ่นอย่างเดียว คนชอบบอกให้ทุกคนเป็นตัวเอง แต่เราโตมาในประเทศที่ดูยากมากที่เด็กจะเข้าใจการเป็นตัวเอง เพราะตั้งแต่เรียนประถมมันมีอะไรอำนวยให้มึงค้นหาตัวเอง หรือลองเป็นแกะดำ หรือเป็นคนที่โดดเด่นขึ้นมาไหม ตอนเราไปทำ Tiger ก็ได้รู้ว่ามันขัดแย้งกับสิ่งที่เราโตมาจริง ๆ เราไปทำเองก็มีมุมกระอักกระอ่วนว่า อย่าง Eyedropper Fill จะมีคนคาดหัวว่านี่เป็นคนที่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ วัยรุ่น เราก็มาย้อนถามตัวเองว่า จริงหรอวะ ตัวเราเล็กมาก ลองไปดู activist ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจริง ๆ พวกนั้นเรียลกว่าเราเยอะมาก เราก็รู้สึกว่าเราเองก็เป็น propaganda ชิ้นนึงเหมือนกัน
เราเลยตั้งคำถามว่ากับแคมเปญ ‘ผู้หญิงอย่าหยุดสวย’ ‘วัยรุ่นวันนี้วันสุดท้าย’ สุดท้ายมันก็แค่โฆษณาชวนเชื่อชิ้นนึงที่ทำให้คนสับสน เพราะรากจริง ๆ ของเรายังไม่ถูกแก้ การศึกษายังเป็นเหมือนเดิม ดูประเทศเราตอนนี้สิ มันน่าเศร้าอะ แล้วมันอำนวยให้เราเป็นตัวเองขนาดนั้นได้แค่ไหนกันเชียว เราเข้าใจในแง่การขายเราไม่ได้แอนตี้หรอก แต่เรารู้สึกว่าถ้าจะไปแก้จริง ๆ ต้องไปแก้ที่ราก สอนในโรงเรียนให้เวิร์กก่อนไหม เราทำได้แค่ในอานุภาพของเครื่องมือที่เรามีและสิ่งที่เราถนัด เราก็พยายามจะแทรกตรงนี้เข้าไปในงานที่เป็น commercial ด้วย แล้วก็ทำงานส่วนตัวด้วยเพื่อที่จะค่อย ๆ ตบโลกนี้ให้มันกลมขึ้น เราเองยังรู้สึก lost เลยแม้คนจะบอกว่าเรามี identity เรามีบริษัทที่สร้างมันขึ้นมาได้ แต่หลาย ๆ ครั้งเราไม่รู้เลยว่าเรามาจากไหน เราทำแบบนี้ได้ยังไง เราว่าการเป็นวัยรุ่น การเป็นตัวเอง มันยาก มันต้องทำงานหนัก หมายถึงว่าเรายอมรับความห่วยของตัวเองได้หรือเปล่า เพราะอันนี้มันจำเป็น
นัท: แต่อันนี้เราก็เข้าใจในอีกแง่นึงคือเบียร์มันได้รับผลกระทบมาจากความบีบคั้นอะไรหลาย ๆ อย่าง อยู่ดี ๆ ไม่ให้มีโฆษณา ไม่ให้มีนั่นมีนี่ เมื่อก่อนตัวเบียร์มันอัตลักษณ์ชัดกว่าตอนนี้เยอะมาก มันไม่ต้องมาแย่งวัยรุ่นด้วยกันหรอก มันเป็นแค่เบียร์นี้มีคาแร็กเตอร์แบบนี้ รสแบบนี้เหมาะกับคนแบบนี้ ตอนนี้มันต้องมาแย่งลูกค้าในหม้อเดียวกัน อันนี้พูดถึงในโครงสร้างเศรษฐกิจนะ ไอ้หม้อที่ใหญ่ที่สุดที่จะขายง่ายที่สุดก็คือกลุ่มนี้ (วัยรุ่น) ที่มันยังไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี คือถ้าในที่นี้ทุกคนบอกว่ายี่ห้อ A อร่อยสุด ทุกคนก็จะแห่ไปกิน A หรือถ้าบอกว่า B โคตรเอาท์ เขาก็จะไม่กิน แล้วเฮละโลไปกินอันอื่น ตอนนี้เขาเลยต้องเททุกอย่างหมดแล้วทำให้เบียร์กลายเป็น lifestyle อยู่ผูกกับดนตรี กับไลฟ์สไตล์ กับนู่นนี่ ทุกอย่างตอนนี้แอลกอฮอล์เอาหมด ทั้งที่เมื่อก่อนเพลงกับแอลกอฮอล์มันไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน มันถูกบีบมาเพราะนโยบายนั้น เขาก็จะพูดซ้ำ ๆ ว่าคนคอเดียวกัน ออกไปแดกดิ กล้าเมาดิ แล้วค่อยใส่ lifestyle ลงไปแล้วค่อยบิดคำ มันก็ไม่แปลกที่จะดูน่าเบื่อ เพราะมันมีที่ให้ดิ้นอยู่แค่นี้แหละ เลยรู้สึกว่าแคมเปญแบบนี้อาจจะต้องเปิดกว้างกว่านั้นมั้ง ถ้าให้พูดจริง ๆ คือเอาโมเดล Tiger Translate อันเก่ากลับมาได้ก็คงดีมาก แล้วก็พยายามหาอะไรใหม่จริง ๆ ต้องกล้ากว่านี้ว่าทำแบบนี้น่าสนใจนะ ทำดิ จริง ๆ ปกตินี้เขาทำอะไรได้แบบนี้อยู่แล้ว เขาไม่ต้องพูดว่าไลฟ์สไตล์มันเป็นยังไง แค่จัดที่ให้ แล้วที่นั่นมันจะมีแต่คนแบบนั้นไปกันเอง แต่อันนี้เขาพยายามจะเปลี่ยน เขาไม่ได้ตั้งใจจะเอาคนที่เป็นอย่างนี้แต่กูต้องพยายามเป็น ก็เศร้านิดนึง
อยากจะลอง uncage อะไรในตัวเองอีก
เบสท์: เรากำลังจะทำ Eyedropper Fill อีกสาขานึงที่มันไม่ได้มีลูกค้าเป็นแบรนด์ อยากได้ทำสารคดีกับ 101 World ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราอินมาก ๆ แล้วพอได้ทำเราก็ชอบมาก ตอนนี้กำลังรีเสิร์ชอยู่ เรารู้สึกว่าเราก็ transform ตัวเองมาเยอะมากเหมือนกัน แต่เราก็มีประสิทธิภาพบางอย่างที่เราไม่ได้ใช้ อย่างเราทำหนังยาวของตัวเองส่วนตัว เราก็เพิ่งมารู้ว่า เฮ้ยเราก็มีมุมนี้นี่หว่า แล้วเราก็ทำได้โอเคเหมือนกัน เรารู้สึกว่าเราทำได้หลายอย่าง ชอบหลายอย่าง แล้วก็อยากทำให้มันดีทุกอย่าง เราเป็นสาย cross เอาอันนี้มาผสมอันนี้ ซึ่งมุมนี้ที่พูดเกี่ยวกับการให้ความรู้กับเรื่องสังคมเรายังไม่ได้ดันออกมา อาจจะทำชื่อแยกด้วย ยังคิดชื่อไม่ออก ปีหน้า อาจจะทำคอนเทนต์เองด้วย ทำได้หมดเลย
นัท: จะออกเป็น creative social enterprise หน่อย มันก็อาจจะเป็นจุดร่วมนึงที่คนก็รู้สึกเหมือนกันในด้านของการให้ความรู้ เรื่องสังคมต่าง ๆ แล้วก็ไม่ได้จำกัดสื่อเหมือนเดิม เหมือนอายดรอปแหละ แต่มันจะได้แยกเป้าหมายออกจากกันอย่างชัดเจน อันนึงก็เป็น commercial กับไปทาง multimedia แบบที่หลายคนเข้าใจ ส่วนอีกฟากก็ทำเวิร์กช็อปให้ความรู้ก็ได้ แต่อายดรอปก็จะยังคง keep พวกนี้อยู่เพราะงานส่วนใหญ่ก็แคร์ target audience หรือ experience ที่ยังเอาไปต่อยอดได้อยู่ เราเข้าใจแหละว่าข้างนี้จะไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์สุขของตรงนั้นจริง ๆ เพราะมันยังมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งในส่วนแบ่งเค้กชิ้นนั้นก็มีมาอยู่ที่เราด้วยเหมือนกัน อีกข้างก็ไปให้สุดไปเลยมากกว่า ก็ uncage ที่ว่า อันใหม่จะอยู่ด้วยตัวเองได้หรือเปล่า
เบสท์: Risk Today สุด ๆ เหมือนกัน
สำหรับใครที่ยังไม่เคยเล่นหรืออยากรู้ว่าของจริงจังเป็นยังไง ไปเจอกันได้ที่ Tiger Jams CenterStage ในวันที่ 2 กันยายน นี้นะ บัตรราคา 350 บาทซื้อได้ที่ All Ticket 7-11 และเคาน์เตอร์เซอร์วิส ติดตามรายละเอียดได้ ที่นี่